เกาหลีใต้ผ่านกฎหมายสู้มลพิษ
เมื่อวันที่ 13 มี.ค. เกาหลีใต้ผ่านกฎหมายเพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็น ‘ภัยพิบัติของสังคม’ และเป็นการปลดล็อกกองทุนฉุกเฉินเพื่อแก้ไขในประเด็นนี้
มลพิษทางอากาศในประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ในเอเชียอย่างเกาหลีใต้ เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน และยานยนต์ที่ปล่อยไอเสียสูง จุดประกายให้เกิดความกังวลในบรรดาประชาชน และส่งผลให้คะแนนความนิยมในตัวประธานาธิบดีมุนแจอินลดดิ่งลง
การพิจารณาประเด็นนี้ว่าเป็น ‘ภัยพิบัติ’ ทำให้รัฐบาลสามารถใช้งบประมาณจากเงินสำรองใช้จ่ายฉุกเฉินเพื่อช่วยในการรับมือกับความเสียหาย หรือเหตุฉุกเฉินที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ โดยกองทุนสำรองของประเทศสูงถึง 3 ล้านล้านวอน หรือราว 85,392 ล้านบาทในปีนี้
โดยกฎหมายอื่นๆที่ผ่านสภา คือให้ทุกห้องเรียนในโรงเรียนควรมีเครื่องฟอกอากาศ และยกเลิกการจำกัดจำนวนยานยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (LPG) ซึ่งจะปล่อยไอเสียสู่บรรยากาศแวดล้อมน้อยกว่าน้ำมันเบนซินและดีเซล
กฎหมายฉบับล่าสุดเป็นไปตามขั้นตอนเดิมที่จะต่อสู้กับมลพิษ เช่น จำกัดการดำเนินการของโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ทั้งนี้ คุณภาพอากาศของเกาหลีใต้ย่ำแย่ที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ในปี 60 อ้างอิงจากข้อมูลของกลุ่ม
โดยค่าเฉลี่ยของ PM2.5 อยู่ที่ 25.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มากกว่าค่าเฉลี่ย 12.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรของกลุ่มประเทศ OECD กว่าสองเท่า
โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำว่า มาตรฐานคุณภาพอากาศควรไม่เกิน 10 ไมโครกรัมในแง่ของระดับ PM2.5 มี 6 วันติดต่อกันในช่วงต้นเดือนมี.ค.ทีมีปริมาณมลพิษหนาแน่นครอบคลุมพื้นที่หลายส่วนของเกาหลีใต้
อ้างอิงจากโพล์รายสัปดาห์ของ Gallup Korea ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 มี.ค. คะแนนความนิยมในตัวประธานาธิบดีมุนแจอินลดลง 3% จากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ซึ่งตัวเลขอยู่ที่ 46%
ถึงแม้จะไม่มีการคัดค้าน แต่ก็ต้องใช้เวลาประมาณ 15 วัน กว่าที่ร่างกฎหมายจะผ่านเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้จริง
ประเทศเพื่อนบ้านของเกาหลีใต้อย่างจีน ก็กำลังต่อสู้กับมลพิษอย่างจริงจังเช่นกัน เป็นความพยายามที่จะฟื้นฟูความเสียหายจากกว่าสามทศวรรษในการผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต.