ญี่ปุ่นรำลึก 8 ปีสึนามิ
เมื่อวันที่ 11 มี.ค เป็นวันครบรอบ 8 ปีของโศกนาฎกรรมจากภัยพิบัติครั้งร้ายแรง ทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่พังทลาย ส่งผลกระทบร้ายแรงกับพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายมากถึง 18,500 ราย
นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ บรรดาส.ส.และสมาชิกครอบครัวที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในหายนะครั้งนี้ต่างก้มศีรษะโค้งคำนับในพิธีสวดภาวนาในกรุงโตเกียวในเวลา 14.46 น.ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเป็นเวลาที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูดในปี 2554
“ เรารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง เมือ่เราคิดถึงความทุกข์ทรมานของผู้ที่สูญเสียสมาชิกครอบครัวอันเป็นที่รัก ญาติพี่น้อง และเพื่อน” นายกฯอาเบะกล่าว
หลังจากผ่านไป 8 ปี เขาระบุว่า การบูรณะโครงสร้างดำเนินไปอย่างมีเสถียรภาพ แต่ให้คำมั่นว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุนช่วยเหลือคนจำนวนมากที่ยังคงต้องดิ้นรนกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่สะดวกสบาย
ท่ามกลางสภาพอากาศที่มีฝนตกปรอยๆ ประชาชนที่อาศัยในเมืองที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิได้มาวางช่อดอกไม้และโค้งคำนับเพื่อเป็นการรำลึกถึงช่วงเวลาที่คลื่นถาโถมเข้าทำลายบ้านเรือนอย่างรวดเร็ว
ในปีนี้ สมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะและสมเด็จพระจักรพรรดินีมิจิโกะไม่ได้ทรงเสด็จมาร่วมพิธีแต่ได้ทรงส่งเจ้าชายอากิชิโนะและเจ้าหญิงกิโกะมาเป็นผู้แทนพระองค์
นอกจากจะทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากและบ้านเรือนพังเสียหายแล้ว สึนามิยังทำลายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะอีกด้วย ทำให้เครื่องปฏิกรณ์ขาดสารหล่อเย็น ทำให้เกิดการหลอมละลาย และปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมา เป็นหายนะครั้งร้ายแรงที่สุดของโลก นับตั้งแต่เหตุการณ์สารกัมมันตรังสีรั่วไหลที่เชอร์โนบิลในปี 2529 เป็นต้นมา
อ้างอิงจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีผู้เสียชีวิต หรือสูญหาย 18,430 ราย จากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ นอกจากนี้ กว่า 3,700 ราย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากฟุกุชิมะ เสียชีวิตจากความเจ็บป่วย หรือฆ่าตัวตายหลังเกิดภัยพิบัติร้ายแรงครั้งนี้ จากข้อมูลของรัฐบาล ขณะที่มีผู้ประสบภัยกว่า 51,000 คนที่ยังคงไร้ที่อยู่
รัฐบาลยกเลิกคำสั่งอพยพสำหรับประชาชนในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการหลอมละลาย ยกเว้นในพื้นที่ห้ามเข้า ที่มีระดับกัมมันภาพรังสีในระดับสูง
ทางการสนับสนุนให้ผู้อพยพเดินทางกลับบ้าน แต่จำนวนประชากรในจังหวัดฟุกุชิมะลดลงเกินครึ่ง จากประมาณ 2 ล้านคนก่อนเกิดภัยพิบัติ ฮิโรมิจิ วาทานาเบะ รมว.กระทรวงบูรณะระบุว่า 97.3% ของพื้นที่ “ เป็นไปได้ที่จะใช้ชีวิตแบบปกติ” ซึ่งขัดแย้งกับความเห็นของ NGO อย่างกลุ่มกรีนพีซ
ผู้ประสบภัยประมาณ 12,000 คน ซึ่งอพยพหนีออกจากบ้านเรือนเนื่องจากความกลัวกัมมันตภาพรังสีได้ยื่นฟ้องรัฐบาลและ TEPCO ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ประมาณ 1 ใน 2 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวญี่ปุ่นคิดว่าการบูณะฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย “ ไม่มีความก้าวหน้า” ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟและบ้านเรือนสำหรับคนที่สูญเสียบ้านในหายนะครั้งนั้น
อ้างอิงจากโพล 72.9% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งคิดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นควรยกเลิกนโยบายส่งออกเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เมื่อเทียบกับ 14.7% ซึ่งสนับสนุนนโยบายนี้.