โตเกียวเสนอกม.ห้ามทำร้ายลูก
เมื่อวันที่ 13 ก.พ. รัฐบาลกรุงโตเกียวระบุว่า มีแผนจะเสนอกฎหมายที่ห้ามไม่ให้ผู้ปกครอง และผู้ดูแลเด็กลงโทษเด็กๆทั้งทางร่างกายและทั้งการใช้วาจาทำร้ายจิตใจเด็ก
แผนของทางการกรุงโตเกียวตั้งเป้าเพื่อป้องกันไม่ให้มีการละเมิดทำร้ายเด็กจากคนในครอบครัว หลังจากมีรายงานข่าวในปีที่แล้วว่าเด็กหญิงคนหนึ่งต้องจบชีวิตลงด้วยน้ำมือของพ่อตัวเองและแม่ก็ไม่ได้ให้การปกป้องลูกมากพอ ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของการบังคับใช้กฎหมายและระบบสวัสดิการดูแลเด็ก
ภายใต้กฎหมายใหม่ที่จะมีการยื่นในการประชุมที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.นี้ ศูนย์สวัสดิการเด็กจะต้องแชร์ข้อมูลระหว่างศูนย์แต่ละแห่ง
ตัวเลขที่เผยแพร่จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (NPA) ของญี่ปุ่นระบุว่า มีผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งมีการรายงานไปที่เจ้าหน้าที่ดูแลสวัสดิการเด็กเพื่อลงบันทึกเป็นจำนวนมากกว่า 80,104 รายในปี 2561
จากกรณีสะเทือนใจของด.ญ.ยูอะ ฟุนาโตะ วัย 5 ปี เมื่อเดือนมี.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นเหยื่อทีถูกพ่อแม่ที่อาศัยอยู่ในกรุงโตเกียวกระทำทารุณ ทำให้รัฐบาลของกรุงโตเกียวตัดสินใจที่จะร่างกฎหมายเพื่อทำให้ศูนย์ช่วยเหลือเด็กมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
มีรายงานว่าทางการกรุงโตเกียวพิจารณากรณีของด.ญ.ยูอะว่า ศูนย์สวัสดิการช่วยเหลือเด็กไม่มีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ เมื่อครอบครัวของเธอย้ายไปและทางศูนย์ได้ติดตามตรวจสอบความปลอดภัยของเด็กล่าช้าเกินไป
โดยแผนการเสนอกฎหมายยิ่งได้รับการผลักดันมากยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อมีกรณีการทำร้ายด.ญ.มิอะ คุริฮาระ วัย 10 ปี ในจังหวัดชิบะ ซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงโตเกียวเกิดขึ้นซ้ำรอยอีก โดยมิอะเสียชีวิตในเดือนม.ค.หลังจากถูกพ่อทำร้ายอย่างทารุณทางร่างกาย นอกจากนี้ จากการชันสูตร ร่างกายเธอยังขาดอาหารอย่างรุนแรง ขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ และตำรวจได้จับกุมพ่อแม่ของเธอไปดำเนินคดี
กรณีของด.ญ.มิอะคือเธอเขียนบอกคุณครูเพื่อขอความช่วยเหลือที่เธอถูกพ่อทำร้าย ซึ่งคุณครูสัญญาจะเก็บเป็นความลับ แต่สุดท้ายพ่อของเด็กก็ได้อ่านข้อความ มีศูนย์ช่วยเหลือเด็กพาเธอไปอยู่ด้วย แต่ก็กลับปล่อยให้เธอกลับมาอยู่บ้านกับพ่อที่ทารุณกับเธออีก แสดงให้เห็นว่าภาครัฐขาดมาตรการที่จะช่วยปก
ป้องคุ้มครองเด็กอย่างที่ควรจะเป็น
ตัวเลขทางการล่าสุดชี้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าไปแทรกแซงและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ต้องสงสัยว่ากระทำการทารุณกับเด็กเพิ่มมากขึ้นเป็น 3 เท่าจากเดิมในปี 2552 โดยมีถึง 1,355 คดีในปี 2561
ทั้งนี้ กรุงโตเกียวมีแผนจะควบคุมพฤติกรรมรุนแรงของพ่อแม่ที่กระทำกับลูก หลังจาก 9 จังหวัดจาก 47 จังหวัดในญี่ปุ่นได้มีการบังคับใช้มาตรการเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กๆไปก่อนหน้านี้แล้ว