บังคลาเทศประท้วงเมียนมาผู้อพยพเพิ่มอีก
บังคลาเทศประท้วงเมียนมาที่ทำให้มีผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่ที่อพยพหนีออกจากรัฐยะไข่ หลังจากเกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารและกลุ่มติดอาวุธ เจ้าหน้าที่คนหนึ่งระบุเมื่อวันที่ 6 ก.พ.
รมว.กระทรวงต่างประเทศของบังคลาเทศเรียกทูตของเมียนมาเข้าพบในวันที่ 5 ก.พ. เพื่อประท้วงเรื่องผู้อพยพชาวมุสลิมโรฮิงญากลุ่มใหม่ที่หลบหนีมาจากรัฐยะไข่ เนื่องจากบังคลาเทศมีภาระเป็นผู้ให้ที่พักพิงกับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากว่า 700,000 คนที่อพยพหนีข้ามพรมแดนเข้ามาตั้งแต่เดือนส.ค.2560
ผู้อพยพกลุ่มใหม่มาจากรัฐยะไข่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธและชาติพันธุ์กลุ่มอื่น เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศอาวุโสกล่าวกับสื่อ AFP โดยไม่ประสงค์ออกนาม แต่ไม่ได้ระบุถึงจำนวนผู้อพยพที่ชัดเจน
“ จำนวนกำลังเพิ่มขึ้นอีก มีหลายคนมารอที่พรมแดนและอาจจะข้ามเข้ามาด้วย เราขอร้องเมียนมาให้มีมาตรการเร่งด่วนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อหยุดยั้งความรุนแรง ”
เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนชายแดนบังคลาเทศระบุว่า ผู้ลี้ภัยได้ข้ามเข้ามาจากพื้นที่ภูเขาห่างไกลของเขตบันดาร์บัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของบังคลาเทศ
ทั้งนี้ บังคลาเทศกำลังดิ้นรนกับภาระการดูแลผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญาจำนวน 740,000 คน ซึ่งข้ามพรมแดนเข้ามาตั้งแต่เดือนส.ค. 2560 เพิ่มจากเดิมที่มีอยู่แล้ว 300,000 คนซึ่งอพยพหนีความรุนแรงในรัฐยะไข่มาก่อนหน้านี้
ปัจจุบัน ในรัฐยะไข่ ซึ่งมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาพุทธเป็นประชากรส่วนใหญ่ กำลังมีความขัดแย้งกับกองทัพกลุ่มติดอาวุธที่ช่วยผลักดันชาวโรฮิงญาออกไปจากรัฐยะไข่เมื่อ 18 เดือนก่อน
โดยเมื่อวันที่ 4 ม.ค. กองทัพอาระกัน (AA) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธที่เรียกร้องการปกครองตนเองในรัฐยะไข่ ได้ปะทะกับตำรวจที่ด่านชายแดน ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 13 ราย ทางกองทัพเมียนมาระบุว่า กลุ่มติดอาวุธเสียชีวิต 13 รายจากการโจมตี ขณะที่ทางสหประชาชาติรายงานว่า มีประชาชนอย่างน้อย 5,200 คนที่ต้องอพยพหนีความรุนแรงจากการปะทะ
การต่อสู้กันทำให้เกิดมิติใหม่ที่ซับซ้อนกับปัญหาในรัฐยะไข่ ที่มีการจลาจลด้านศาสนามาตั้งแต่ปี 2555 มีการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญา และการสังหารระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย
บังคลาเทศประท้วงหลังจากแองเจลินา โจลี ซูเปอร์สตาร์จากฮอลลีวู้ดกล่าวเมื่อวันที่ 5 ก.พ.ว่า เมียนมาต้องแสดงให้เห็นถึงข้อผูกพันที่แท้จริง เพื่อยุติความรุนแรง ซึ่งส่งผลให้ชาวโรฮิงญาหนีข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศ
ทั้งนี้ ทางสหประชาชาติกำลังยื่นอุทธรณ์ขอความช่วยเหลือจากนานาชาติรอบใหม่จำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นงบประมาณในการดูแลชาวโรฮิงญา.