รมว.คลังญี่ปุ่นขอโทษออกความเห็นแรง
นายทาโร นายทาโร อาโสะ รมว.กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นที่ออกความเห็นอย่างเสียมารยาทได้ออกมาขอโทษที่เขากล่าวตำหนิคู่สมรสและสตรีที่ไม่ยอมมีบุตรว่าเป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจเนื่องจากญี่ปุ่นมีผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่อัตราการเกิดต่ำ โดยเขายอมขอโทษเพื่อยุติปัญหาการวิจารณ์ทางการเมืองที่ถาโถมเข้าใส่พรรครัฐบาล
รมว.อาโสะ ซึ่งเป็นรมว.กระทรวงการคลังได้ปฏิบัติตามนโยบายเพื่อจัดการแก้ปัญหาประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น และจำนวนทารกเกิดใหม่หดตัวลง ซึ่งส่งผลกระทบกับระบบประกันสังคม และเกิดภาวะการขาดแคลนแรงงานในประเทศที่มีประชากรมากถึง 126 ล้านคน
เมื่อวันที่ 5 ก.พ.รมว.อาโสะ ซึ่งเป็นสมาชิกอาวุโสของพรรคเสรีประชาธิปไตยที่เป็นพรรครัฐบาล กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การที่ผู้คนมีบุตรไม่มากในทุกวันนี้ และมีอายุขัยยืนยาวขึ้นไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี แต่นักการเมืองฝ่ายค้านระบุว่า ความเห็นนี้แสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้รู้สึกและเข้าถึงปัญหาที่หลายครอบครัวต้องเผชิญ
“ ผู้หญิงหลายคนอาจได้ยินความเห็นของผม และคิดว่าพวกเธอเองก็อยากมีลูกและมีไม่ได้ และผมขอโทษ หากผมทำให้ทุกคนรู้สึกไม่ดี ” อาโสะกล่าวขอโทษ
ทั้งนี้ ความเห็นที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์เขาในวงกว้างคือ สิ่งที่เขาพูดในช่วงสุดสัปดาห์ที่จังหวัดฟุกุโอกะว่า
“ คนจำนวนมากพยายามกล่าวโทษผู้สูงอายุ แต่มันไม่ใช่อย่างนั้นเลย ปัญหาคือคนที่ไม่ยอมมีลูกต่างหาก ” หนังสือพิมพ์อา ซาฮี ( ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อรายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น) รายงานโดยยกคำพูดของเขามา และต่อมา เขาได้ขอถอนคำพูด
“ ผมขอถอนคำพูด และจะระวังคำพูดของผมในวันข้างหน้า ”
เรนโฮ มุราตะ นักการเมืองฝ่ายค้านวิจารณ์อาโสะอย่างรุนแรงในทวิตเตอร์ของเธอ “ นี่ไม่ใช่การเข้าใจผิด เขาไม่แม้แต่จะพยายามเข้าใจผู้หญิงที่มีลูกไม่ได้ ทั้งๆที่พวกเธอก็อยากจะมี”
อ้างอิงจากหนังสือพิมพ์อาซาฮี รมว.อาโสะระบุเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ว่า อายุขัยที่ยืนยาวขึ้นเป็นเรื่องที่ “ มหัศจรรย์ ” และกล่าวว่าญี่ปุ่นจำเป็นต้องมีระบบประกันสังคมที่สนับสนุนคนทุกวัย
อาโสะสามารถอยู่รอดได้ในอาชีพนักการเมือง แม้จะทำผิดพลาดด้วยการพูดจาที่ไม่ระมัดระวัง เนื่องจากคนญี่ปุ่นจำนวนมากยอมรับว่าเป็นบุคลิกส่วนตัวของเขา แต่เขาไม่ใช่นักการเมืองคนแรกของญี่ปุ่นที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนเหยียดเพศ โดยเมื่อปี 2561 ส.ส.จากพรรครัฐบาลระบุว่า ผู้หญิงญี่ปุ่นควรมีลูกให้มากกว่านี้ ถ้าไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นภาระของประเทศเมื่อเป็นผู้สูงอายุ นายคันจิ คาโตะระบุว่า หากเขาพบผู้หญิงที่ไม่ต้องการแต่งงาน เขาจะบอกเธอว่า เธอจะต้องเป็นผู้สูงอายุในสถานดูแลผู้สูงอายุ ที่สร้างจากภาษีของลูกหลานคนอื่นๆ
ในปี 2561 อัตราการเกิดของญี่ปุ่นต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการบันทึกมา และจำนวนประชากรหดตัวลงถึง 448,000 คน.