ยุโรปรับรองกุยโตเป็นปธน.รักษาการเวเนฯ
หลายประเทศในยุโรปให้การรับรองนายฆวน กุยโต ผู้นำฝ่ายค้านของเวเนซุเอลาเป็นประธานาธิบดีรักษาการของเวเนซุเอลาในวันที่ 4 ก.พ. โดยสนับสนุนให้เขาจัดการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและยุติธรรม
ความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกันเกิดขึ้นหลังจากประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโรไม่สนใจข้อเรียกร้องของชาติอียูเมื่อสัปดาห์ก่อน
ที่ให้จัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดภายในวันที่ 3 ก.พ. โดยสเปน สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรีย เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ต่างระบุว่า ให้การรับรองกุยโตเป็นผู้นำเวเนซุเอลาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซของสเปนเรียกร้องให้กุยโต วัย 35 ปี ซึ่งเป็นประธานสภา “ จัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่เป็นอิสระตามหลักการประชาธิปไตย” ขณะที่เจเรมี ฮันท์ รมว.กระทรวงต่างประเทศของอังกฤษระบุบนทวิตเตอร์ว่า สหราชอาณาจักรยอมรับกุยโตในฐานะประธานาธิบดีรักษาการ “ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งที่เชื่อถือได้ ”
โฆษกของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ระบุว่า จะมีการพิจารณาการคว่ำบาตรเวเนซุเอลาด้วย โดยเสริมว่าการปกครองของมาดูโรต้องยุติลง
มาดูโรปฏิเสธสิ่งที่เขาเรียกว่า “การยื่นคำขาด” จากผู้นำประเทศในอียู โดยยืนยันว่าการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ที่ทำให้เขาได้บริหารประเทศต่ออีก 6 ปีนั้นยุติธรรมแล้ว “ เราไม่ยอมรับการยื่นคำขาดจากใครทั้งนั้น” มาดูโรกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ Lasexta ของสเปนเมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยเขายังระบุว่า เขาสนับสนุนแผนการประชุมระหว่างอียูกับประเทศลาตินอเมริกาในมอนเตวีเดโอ อุรุกวัย ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 ก.พ.ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการก่อตั้ง “กลุ่มติดต่อสื่อสารระหว่างประเทศ” ใหม่ ที่ตั้งเป้าเพื่อให้เกิดกระบวนการทางการเมืองอย่างสันติ
ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงแห่งฝรั่งเศสกล่าวสนับสนุนบทบาทของกลุ่มในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านในเวเนซุเอลาเมื่อวันที่ 4 ก.พ. หลังจากรับรองกุยโตเป็น “ประธานาธิบดีรักษาการ” ในทวีตของเขา
Jean -Yves Le Drian รมว.กระทรวงต่างประเทศฝรั่งเศสกล่าวในรายการวิทยุ France Inter Radio เมื่อวันที่ 4 ก.พ.ว่า การตัดสินใจให้การรับรองกุยโตไม่ใช่ “การแทรกแซงของต่างชาติ” อย่างที่รัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติพันธมิตรของมาดูโรเคยกล่าวไว้ โดย Dmitry Peskov โฆษกรัฐบาลรัสเซียกล่าวประณามการแทรกแซงของชาติยุโรปกับประเด็นการเมืองภายในเวเนซุเอลา โดยเรียกความพยายามนี้ว่า เป็นการทำให้อำนาจที่ช่วงชิงมานั้นถูกต้องตามกฎหมาย
นับตั้งแต่กุยโตประกาศตัวเป็นประธานาธิบดีรักษาการในวันที่ 23 ม.ค.ซึ่งเป็นการท้าทายรัฐธรรมนูญและมาดูโร เขาได้รับการรับรองจากแคนาดา สหรัฐฯ ออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา โดยกุยโตระบุว่า ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจะเริ่ม
หลั่งไหลเข้ามาในประเทศภายในไม่กี่วัน ท้าทายการปฏิเสธความช่วยเหลือซ้ำๆของมาดูโร เนื่องจากเขามองว่าความช่วยเหลือเหล่านี้จะผลักดันให้กองทัพประสานความร่วมมือกับฝ่ายค้าน