ชาวเกาหลีเดินเคียงโลงศพ “หญิงบำเรอ” ประท้วงญี่ปุ่น
ผู้ชุมนุมชาวเกาหลีใต้ เดินขบวนไปพร้อมกับโลงศพของนักรณรงค์ซึ่งเป็น “หญิงบำเรอ” ไปยังสถานทูตญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อประท้วงการกระทำของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกที่บังคับแรงงานหญิงให้ทำงานในซ่อง
รถบรรทุกโลงศพของคุณคิม บก ดง ซึ่งเสียชีวิตเมื่อสัปดาห์ก่อน เดินทางไปยังสถานทูตญี่ปุ่น เพื่อเน้นให้เห็นถึงชะตากรรมของหญิงบำเรอ หรือคำสุภาพสำหรับการเรียกผู้หญิงที่ถูกบังคับให้ค้าประเวณี และถูกทำร้ายร่างกายทางเพศในซ่องของทหารญี่ปุ่น ทั้งก่อนและระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
บางส่วนของผู้ชุมนุมตะโกนพร้อมกันในระหว่างเดินขบวนว่า “ญี่ปุ่นต้องขอโทษ” “ญี่ปุ่นต้องให้เงินเยียวยาอย่างเป็นทางการ”
ผู้ร่วมไว้อาลัยถือแผ่นป้ายขอบคุณคิม บก ดง วัย 93 ปี ที่ได้เสียสละตนให้กับเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงยังได้เป็นผู้เรียกร้องทางญี่ปุ่นให้ชดใช้ในสิ่งที่กระทำลงไปในอดีต ป้ายบางอันถูกตัดแต่งเป็นรูปผีเสื้อ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ความเป็นอิสระของผู้หญิงที่ต้องทนทรมาน
ประเด็นเกี่ยวกับ หญิงบำเรอ เป็นที่ถกเถียงกันระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่นซึ่งต่างมีความหลังอันขมขื่น เนื่องมาจากการที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองคาบสมุทรเกาหลีระหว่างปี พ.ศ. 2453-2488
ทางญี่ปุ่นระบุว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการตกลงกันเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของหญิงบำเรอกันด้วยดี และได้มีการขอโทษเรียบร้อยแล้ว หากยังมีการขัดแย้งในกรณีดังกล่าวต่อไป อาจจะส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ
คุณคิม เสียชีวิตในโรงพยาบาลหลังจากต้องต่อสู้กับมะเร็ง โดยในปี 35 เธอเป็นเหยื่อคนแรกที่กล้ายืนหยัดออกมาเปิดเผยประสบการณ์ที่เธอต้องเผชิญ และได้กลายเป็นผู้ชุมนุมหลักสำหรับการประท้วงทุกสัปดาห์ด้านหน้าสถานทูตญี่ปุ่น
คุณคิมระบุว่า เมื่อมีการส่งตัวเธอไปยังซ่องสำหรับกองทัพญี่ปุ่น เธอมีอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น และเธอยังถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์กับทหาร โดยซ่องสำหรับบริการทหารญี่ปุ่นยังมีตั้งอยู่ในจีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์อีกด้วย
คุณลี ยง ซู หนึ่งในเหยื่อของเหตุการณ์หญิงบำเรอ ได้ร่วมไว้อาลัยการจากไปของคุณคิม ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น โดยเธอได้วางช่อดอกไม้กับรูปปั้นเด็กสาว หรือสัญลักษณ์แทนหญิงบำเรอทุกคน ที่ทำจากทองแดง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสถานทูตญี่ปุ่น
เมื่อผู้จัดงานในครั้งนี้ได้เปิดภาพวิดีโอของคุณคิมที่กู่ร้องระหว่างการเดินขบวนในอดีตว่า เธอจะตั้งรูปปั้นของเด็กผู้หญิงไปทั่วโลก จนกว่าญี่ปุ่นจะยอมขอโทษอย่างจริงใจ ทำให้ผู้เข้าร่วมไว้อาลัยหลายรายต่างร่ำไห้สะอื้นและเช็ดน้ำตาอย่างเงียบ ๆ
กลุ่มนักกิจกรรมอนุรักษ์นิยม ผู้ซึ่งโต้กลับว่า ประเด็นของหญิงบำเรอควรจะถูกพับเก็บไปก่อน เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างเกาหลีและญี่ปุ่นดีขึ้น โดยกลุ่มนักกิจกรรมได้ปรากฏตัวขึ้นที่สถานทูตพร้อมธงชาติเกาหลีใต้
คุณลีกล่าวในระหว่างที่เธอนั่งเคียงกับรูปปั้นเด็กสาวว่า “พวกเขากล้าโบกธงชาติที่มีค่าของเราได้อย่างไร? พวกเขาก็คือพวกเดียวกับนักการเมืองญี่ปุ่นที่บิดเบือนประวัติศาสตร์นั่นแหละ”
ด้วยความกล้าและคารมของเธอ คุณคิมได้เป็นนักวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับข้อตกลงในปี 58 เพื่อให้ทางญี่ปุ่นขอโทษเหยื่อ และมอบเงินเยียวยา 1 พันล้านเยน (หรือ 285 ล้านบาทในปัจจุบัน) ให้กับกองทุนในเกาหลีเพื่อช่วยเหลือเหยื่อเหล่านี้
คุณคิมระบุว่า ทางญี่ปุ่นได้ขอโทษอย่างไม่จริงใจ เนื่องจากผู้นำบางรายของญี่ปุ่น ยังคงปฏิเสธว่าเหยื่อเหล่านั้นถูกบังคับให้ทำงานในซ่องอย่างไม่เต็มใจ
รัฐบาลภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีมุน แจ อิน ระบุว่า จะไม่มีการนำข้อตกลงในปี 58 กลับมาเจรจาใหม่อีกครั้ง โดยในปีก่อน ได้มีการสัญญาว่าจะปิดกองทุนที่ทางญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุน และมุ่งไปที่การเยียวยาโดยมีเหยื่อเป็นศูย์กลางให้มากขึ้น
หลังจากที่คุณคิมเสียชีวิต ทำให้เหลือเหยื่อหญิงบำเรอที่ลงทะเบียนไว้และยังมีชีวิตอยู่เพียงแค่ 23 ราย ยิ่งเน้นย้ำว่า ต้องเร่งมือช่วยเหลือให้เหยื่อได้รับการขอโทษอย่างเป็นทางการและได้รับเงินเยียวยาจากทางญี่ปุ่นให้เร็วขึ้น เพื่อให้ผู้คนได้ยินเสียงของพวกเธอในขณะที่ยังมีโอกาส