วิกฤตคนแก่ยากจนในเกาหลีใต้
เนื่องจากคนหนุ่มสาวละทิ้งแนวคิดตามลัทธิขงจื๊อที่ต้องดูแลพ่อแม่ และรัฐบาลขาดความสามารถในการช่วยเหลือ ทำให้มีผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ฆ่าตัวตายมากขึ้นจนน่าตกใจ
ในปี 2560 อัตราการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุวัย 70 กว่าปี ต่อประชากร 100,000 คนอยู่ที่ 48.8% และตัวเลขอยู่ที่ 70.0% สำหรับผู้ที่มีอายุ 80 ปีหรือมากกว่า อ้างอิงจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ
“ ความไร้ความสามารถและไร้ความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังอัตราความยากจนและการฆ่าตัวตายสูงสุดของพลเมืองสูงอายุ” โชฮยอนยุน นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยดงกุกในกรุงโซลระบุ “ เป็นเรื่องสำคัญมากที่ทุกพรรคการเมืองต้องมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความยากจนของผู้สูงอายุ”
จากข้อมูลของ OECD ชี้ว่า ในปี 2558 ผู้สูงอายุชาวเกาหลีใต้ในวัย 65 ปีมีชีวิตอยู่อย่างยากจนถึง 45.7% จัดว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในบรรดากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ตัวเลขในญี่ปุ่นอยู่ที่ 19.6%
ชาวเกาหลีใต้ในวัย 60 – 80 ปีเป็นคนรุ่นสุดท้ายที่เลี้ยงดูพ่อแม่ และเป็นคนรุ่นแรกที่ใช้ชีวิตอยู่โดยไม่ได้รับการเลี้ยงดูจากลูกหลาน
“ คนรุ่นเดียวกันกับลูกผมไม่มีความคิดที่จะเลี้ยงดูพ่อแม่” คุณคัง วัย 79 ปีให้ข้อมูล “ ผมไม่สามารถขอเงินลูกชายและลูกสะใภ้ได้”
คิมยูคยอง นักวิจัยอาวุโสที่สถาบันสุขภาพและสวัสดิการสังคมเกาหลีระบุว่า “ โครงสร้างครอบครัวเกาหลีเล็กลง สังคมมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ผู้คนเชื่อว่ารัฐบาลควรจะดูแลพลเมืองสูงอายุ ไม่ใช่ครอบครัว”
“ เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบเงินบำนาญในอัตราต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับค่าจ้างเฉลี่ย คือแค่ 6%” David Anderson ประธาน Mercer’s International ระบุ
รัฐบาลเสรีนิยมของประธานาธิบดีมุนแจอินพยายามผลักดันในเรื่องนี้ ไม่ใช่เพราะผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นเท่านั้น แต่ประธานาธิบดีมุนต้องการได้เสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งครั้งหน้าด้วย
แม้อดีตประธานาธิบดีพัคกึนฮเยจะถูกตัดสินโทษจำคุก 25 ปีในข้อหาคอร์รัปชั่น แต่คนจำนวนมากยังคงรักเธอ เพราะเธอเป็นบุตรสาวของอดีตประธานาธิบดีพัคจุงฮี ซึ่งปกครองประเทศในยุคอุตสาหกรรมเฟื่องฟู
“ เหตุผลที่ผู้สูงอายุยังคงยึดติดกับ ‘อดีตที่ดี’ เพราะชีวิตในปัจจุบันของพวกเขายากลำบาก”
ประธานาธิบดีมุนจึงหวังที่จะดึงคนกลุ่มนี้มาเป็นฐานเสียงของเขาในการเลือกตั้งทั่วไปปีหน้าและการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2565 เขาจึงอนุมัติขึ้นเงินช่วยเหลือผู้สูงอายุวัย 65 ปีอีก 50,000 วอน เป็น 300,000 วอน โดยจะมีผลในเดือนเม.ย.นี้
แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับประเทศที่คนหนุ่มสาวเองก็หางานทำยาก อัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวเกาหลีใต้อยู่ที่ประมาณ 8% ซึ่งสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของประเทศ
คุณลุงที่นามสกุลอีคนหนึ่งหาเงินจากการเดินเก็บเศษกระดาษและกล่องตามถนนในกรุงโซลขายได้ประมาณ 6,000 วอนต่อวัน ซึ่งแทบไม่พอจะประทังชีวิตของเขา
“ ผมซื้อได้แค่ผักทำเครื่องเคียง ผมได้เงินบำนาญจากรัฐ 250,000 วอนต่อเดือน แต่ไม่มีสิทธิ์ได้เงินช่วยผู้สูงอายุพื้นฐานเพราะผมเป็นเจ้าของบ้าน” เขากล่าวว่ารายได้ทั้งหมด “น้อยเกินไปที่จะใช้ชีวิต”.