สหรัฐฯเลื่อนรายงาน GDP จากผลชัทดาวน์
สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจ (BEA) ของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ว่า จะเลื่อนการเผยแพร่ข้อมูลตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 4 ที่มีกำหนดในวันที่ 30 ม.ค.ออกไปก่อน เพราะเพิ่งยุติการชัทดาวน์รัฐบาลที่กินเวลานานถึง 5 สัปดาห์
การชัทดาวน์รัฐบาลที่กินเวลานานที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ทำให้ไม่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ตัวเลขค้าปลีกไปจนถึงการใช้จ่ายในการก่อสร้าง ซึ่งจะถูกนำมาคำนวณในรายงาน GDP โดยนักเศรษฐศาสตร์ นักลงทุน และธุรกิจเชื่อในข้อมูลจากหลายหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ รวมทั้งสำนักสำมะโนสหรัฐฯ ซึ่งถูกปิดทำการในช่วงชัทดาวน์ 35 วันของรัฐบาล
Thomas Dail โฆษกของ BEA ระบุว่า ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลใหม่เนื่องจากมีการเลื่อนรายงาน และทางหน่วยงานกำลังปรึกษากับสำนักสำมะโนและหน่วยงานที่จัดเตรียมข้อมูลให้เน้นที่ข้อมูลที่มีอยู่เพื่อใช้ในการสร้างตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ
“ จนกว่าเราจะทราบมากขึ้นว่าเมื่อไรที่แหล่งข้อมูลจะพร้อม เรายังไม่อาจเจาะจงวันที่จะออกข้อมูลได้สำหรับการชี้วัดเศรษฐกิจ เราจะทำงานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และจัดเตรียมข้อมูลให้เร็วที่สุด” โฆษก Dail กล่าว
นอกจากนี้ การชัทดาวน์ของรัฐบาลยังส่งผลกระทบทำให้ต้องเลื่อนรายงานรายได้ส่วนบุคคลในเดือนธ.ค.จากกำหนดเดิมในวันที่ 31 ม.ค. และข้อมูลการค้าซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ในวันที่ 5 ก.พ.ด้วย โดยรายงานเดือนธ.ค.ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำสั่งซื้อสินค้า ยอดค้าปลีก และยอดขายบ้านต้องถูกเลื่อนออกไปเช่นกัน
ขณะที่สำนักสำมะโนสหรัฐฯระบุว่า ได้อัพเดทปฏิทินตัวชี้วัดเศรษฐกิจปี 2562 กับหน่วยงานอื่น และจะตีพิมพ์กำหนดเวลาใหม่ให้เร็วที่สุด โดย Larry Kudlow ที่ปรึกษาเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาวกล่าวกับสื่อเมื่อวันที่ 28 ม.ค.ว่า “ เราน่าจะได้รับรายงาน GDP ในสัปดาห์หน้า ”
รัฐบาลเปิดทำการเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 28 ม.ค.หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และสภาคองเกรสตกลงที่จะให้งบประมาณชั่วคราว ทำให้ส.ส.มีเวลาจนถึงวันที่ 15 ก.พ.ที่จะพูดคุยเรื่องความมั่นคงทางพรมแดนเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการชัทดาวน์รัฐบาลได้อีก
อ้างอิงจากรายงานของสำนักงบประมาณสภาคองเกรสที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด การชัทดาวน์รัฐบาลที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งนี้ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังการชัทดาวน์รัฐบาลในเดือนต.ค. 2556 ทำให้ทาง BEA และสำนักสำมะโนต้องตีพิมพ์รายงานเดือนธ.ค.ล่าช้าเช่นกัน
การไม่มีข้อมูลชี้นำสร้างความวุ่นวายกับหลายธุรกิจ ทั้งภาคการผลิต เกษตรกรรม ผู้ค้าปลีก ผู้ก่อสร้าง ซึ่งพึ่งพารายงานเพื่อช่วยในการตัดสินใจด้านการใช้จ่ายเงินทุน การผลิต การจัดการสินค้าคงคลัง และกิจกรรมอื่นๆ
นอกจากนี้ ยังสร้างความมืดมนให้กับรัฐบาลและนักเศรษฐศาสตร์เอกชนที่พึ่งพารายงานเพื่อกำหนดภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยตลาดการเงินก็ต้องการรายงานนี้เพื่อการตัดสินใจเช่นกัน.