บังคลาเทศไม่รับโรฮิงญาจากอินเดีย
บังคลาเทศปฏิเสธไม่ให้ชาวมุสลิมโรฮิงญา 31 คนที่พยายามจะข้ามจากอินเดียผ่านเข้ามาในบังคลาเทศ ทำให้ชาวโรฮิงญากลุ่มนั้นติดค้างอยู่ตรงบริเวณพรมแดนที่ไม่มีใครอาศัยอยู่ เนื่องจากอินเดียปราบปรามชุมชนชาวโรฮิงญา ทางการบังคลาเทศรายงานสถานการณ์เมื่อวันที่ 21 ม.ค.
โดยกลุ่มชาวโรฮิงญาที่ตกค้างอยู่ ซึ่งมีผู้หญิงและเด็กรวมอยู่ด้วย เคยอาศัยอยู่ในรัฐชัมมูร์และแคชเมียร์ในประเทศอินเดีย อ้างอิงจากข้อมูลของเจ้าหน้าที่ประจำด่านพรมแดนบังคลาเทศ (BGB) ซึ่งระบุว่า เขาเห็นบัตรประจำตัวประชาชนของพวกเขาที่ออกให้โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในอินเดีย
ชาวโรฮิงญา 31 คนติดอยู่ตรงบริเวณพรมแดนบังคลาเทศที่ติดกับพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. Golam Kabir ผู้บัญชาการด่าน BGB ในพื้นที่รายงาน
“ เราหยุดพวกเขาขณะที่พวกเขากำลังข้ามพรมแดนเข้ามา ” Kabir กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ทางโทรศัพท์
“ พวกเขาอยู่ตรงพรมแดนตั้งแต่วันที่ 18 เดือนนี้ ” เขากล่าว โดยอ้างถึงพรมแดน มีการพูดคุยกันสองรอบว่าจะทำอย่างไรกับคนทั้ง 31 คน โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความมั่นคงพรมแดนอินเดีย “ ได้ยุติการพูดคุยโดยไม่มีการตัดสินใจใดๆ” Kabir กล่าว
ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนอพยพลี้ภัยทิ้งบ้านเรือนของตัวเองที่อยู่มานานกว่าหลายทศวรรษในรัฐยะไข่ของเมียนมา ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ ข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นการหลบหนีการปราบปรามอย่างรุนแรงของกองทัพเมียนมาและการเลือกปฏิบัติ
ชาวโรฮิงญาจำนวนมากหาที่พักพิงในบังคลาเทศ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยอยู่แล้วเกือบ 1 ล้านคน แต่อีกหลายคนอาศัยอยู่ในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศอื่นๆ
เจ้าหน้าที่รักษาดินแดนของอินเดียนายหนึ่งในรัฐตริปุระกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ว่า พวกเขาจัดหาอาหารและเสื้อผ้าให้ชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ ซึ่งมีเด็ก 16 คน
ทั้งนี้ อินเดียประเมินว่า มีชาวโรฮิงญา 40,000 คนที่อาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายในหลายพื้นที่ของประเทศอินเดีย แต่รัฐบาลอินเดียซึ่งเป็นเชื้อชาติชาวฮินดูมองว่าชาวโรฮิงญาเป็นคนต่างด้าวผิดกฎหมาย และเป็นภัยต่อความมั่นคง และได้สั่งการให้มีการระบุอัตลักษณ์และส่งพวกเขากลับประเทศต้นทาง
UNHCR ได้ออกบัตรประจำตัวให้ชาวอินเดีย 16,500 คนเพื่อช่วยให้พวกเขา “ ไม่ถูกคุกคาม ถูกจับกุม ถูกควบคุมตัว และถูกขับไล่ออกจากประเทศ ”
ครอบครัวชาวโรฮิงญาหลายร้อยครอบครัวหลบหนีออกจากอินเดียไปบังคลาเทศ ตั้งแต่ชายโรฮิงญา 7 คนถูกเนรเทศไปเมียนมาในเดือนต.ค. ในเดือนม.ค.นี้ อินเดียส่งครอบครัวชาวโรฮิงญาที่มีสมาชิก 5 คนกลับไปเมียนมา
สหประชาติระบุว่า สภาพตอนนี้ยังไม่เหมาะสมที่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาจะกลับไปที่เมียนมา
เมื่อเดือนส.ค.2561 สหประชาติกล่าวหาว่ากองทัพเมียนมามีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และข่มขืนชาวโรฮิงญาในปี 2559 จนทำให้ชาวโรฮิงญาต้องอพยพหนีข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศกว่า 700,000 คน เมียนมาปฏิเสธข้อกล่าวหา
โดยระบุว่าทหารปฏิบัติการโต้ตอบกลุ่มก่อการร้ายมุสลิมที่โจมตีป้อมตำรวจก่อน.