เฟซบุ๊กลบเพจเชื่อมโยงรัสเซีย
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. เฟซบุ๊กได้ลบหลายร้อยเพจที่ดูเหมือนจะเป็นเว็บไซต์ข่าวอิสระในยุโรปตะวันออก แต่ที่จริงแล้วดำเนินการโดยพนักงานของสำนักข่าว Sputnik ที่เป็นสื่อของรัฐบาลรัสเซีย
การกำจัดเพจครั้งนี้ถือเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องของยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กที่มีต่อการให้ข้อมูลลวงโดยรัสเซีย โดยเมื่อเดือน ก.พ.ปี 2561 Robert Mueller ที่ปรึกษาพิเศษของสหรัฐฯฟ้องดำเนินคดีกลุ่มเกรียนไซเบอร์ของรัสเซียในข้อหาสมคบคิดหลอกลวงสหรัฐฯ โดยกลุ่มนี้ปลอมเป็นชาวอเมริกันบนเฟซบุ๊ก
โดยเฟซบุ๊กระบุว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค.บริษัทได้ลบ 364 เพจและบัญชีผู้ใช้งานที่มีผู้ติดตามเกือบ 800,000 ราย และใช้จ่ายเงินลงโฆษณาบนเฟซบุ๊กประมาณ 135,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนต.ค. 2556 จนถึงเดือนนี้
ประเทศที่เป็นเป้าหมายคือโรมาเนีย ลัตเวีย เอสโทเนีย ลิธัวเนีย จอร์เจีย และมอลโดวา เพจเหล่านี้มักจะส่งเสริมปลุกเร้าให้มีการต่อต้านองค์การ NATO และประท้วงความเคลื่อนไหวขององค์กร จากรายงานของเฟซบุ๊ก
หลายเพจใช้ตัวตนปลอม มีการควบคุมกลุ่มของหลายเพจโดยผู้ใช้งานเฟซบุ๊กที่อ้างว่าเป็นหญิงที่อาศัยอยู่ในประเทศจอร์เจีย ทั้งนี้ Digital Forensic Research Lab ของ The Atlantic Council ซึ่งช่วยเฟซบุ๊กในการระบุตัวตนบัญชีปลอมพบว่า มีการนำภาพโปรไฟล์มาจากบัญชีโซเชียลมีเดียของนางแบบชาวสวีเดน
ในหลายเพจยังมีการส่งเสริมอีเวนต์เกือบ 200 อีเวนต์ โดยเฟซบุ๊กระบุว่า ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีการจัดอีเวนต์เหล่านั้นจริงหรือไม่
โดย RIA Global LLC บริษัทหุ้นส่วนของ Sputnik จดทะเบียนเป็นนายหน้าต่างชาติในสหรัฐฯ
ในแถลงการณ์เมื่อวันที่ 17 ม.ค. Sputnik ระบุว่า การดำเนินการของเฟซบุ๊กถือเป็นการเซ็นเซอร์
“ เห็นชัดว่าเป็นเรื่องการเมืองและเป็นการเซ็นเซอร์ 7 เพจที่เป็นของฮับข่าวของเราในประเทศเพื่อนบ้านถูกบล็อก ” แถลงการณ์ระบุ
Digital Forensic Research Lab พบว่า เพจหลอกลวงเหล่านี้ไม่ได้มีแค่คอนเทนต์ข่าวเท่านั้น โดยเพจหนึ่งเป็นเพจการท่องเที่ยวในลัตเวีย ขณะที่อีกเพจเป็นแฟนคลับของประธานาธิบดีของทาจิกิสถาน
นอกจากนี้ เฟซบุ๊กระบุว่า ได้ลบอีก 107 เพจ,กลุ่มและบัญชีผู้ใช้งานที่ออกแบบมาให้ดูเหมือนว่ามีการดำเนินการในยูเครน แต่ที่จริงแล้วสร้างขึ้นในรัสเซีย
“ เราสามารถระบุตัวตนที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในรัสเซีย ซึ่งเรามองว่าสำคัญสำหรับการเลือกตั้งกลางเทอมในสหรัฐฯ รวมถึงพฤติกรรมที่แชร์กับสำนักวิจัยอินเทอร์เน็ต ” Nathaniel Gleicher หัวหน้าฝ่ายนโยบายความปลอดภัยทางไซเบอร์ของเฟซบุ๊กระบุในโพสต์ของเขา