วัยรุ่นสาวซาอุฯได้ลี้ภัยในแคนาดา
สาวซาอุดิอาระเบีย วัย 18 ปี ซึ่งหลบหนีจากครอบครัวระบุว่า เธอรู้สึกกลัวกับชีวิตของเธอเมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติโตรอนโตในแคนาดาเมื่อวันที่ 12 ม.ค.หลังจากแคนาดายอมรับให้เธอเป็นผู้ลี้ภัย โดยมีคริสเทีย ฟรีแลนด์ รมว.กระทรวงต่างประเทศแคนาดาไปต้อนรับเธอในฐานะชาวแคนาเดียนผู้กล้าหาญ
น.ส.ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัลคุนุน เป็นจุดสนใจไปทั่วโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเธอขังตัวเองในห้องพักของโรงแรมที่กรุงเทพฯ และไม่ยอมถูกส่งกลับไปหาครอบครัว เธอปฏิเสธที่จะพบกับบิดาและพี่ชาย ซึ่งเดินทางตามมาที่กรุงเทพฯ เพื่อพาเธอกลับไปซาอุฯ
โดยน.ส.คุนุนเดินทางถึงสนามบินโตรอนโตเมื่อเช้าวันที่ 13 ม.ค.สวมเสื้อมีฮู้ด ที่มีคำว่าแคนาดาสีแดงบนเสื้อและสวมหมวกสีฟ้าที่มีเครื่องหมายของ UNHCR ซึ่งรับรองสถานะผู้ลี้ภัยให้เธอ
ในทวีตล่าสุดก่อนเดินทางไปโตรอนโต เธอระบุว่า “ ฉันทำได้” และโพสต์ภาพจากบนเครื่องบิน
รมว.ฟรีแลนด์ ซึ่งมารับคุนุนที่สนามบิน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า คุนุนเป็น “ ชาวแคนาเดียนที่กล้าหาญมาก”
“ ราฮาฟต้องการให้ชาวแคนาเดียนเห็นว่าเธอมาถึงบ้านใหม่ของเธอแล้ว แต่เธอเดินทางมานานและรู้สึกเหนื่อย จึงไม่พร้อมจะให้สัมภาษณ์ในวันนี้ และเธอกำลังจะไปบ้านใหม่ของเธอ”
เธอยิ้มและโบกมือให้ผู้สื่อข่าวขณะเดินทางมาถึงสนามบินแต่ไม่ได้พูดอะไรกับสื่อ หลังจากปรากฎตัวในช่วงเวลาสั้นๆ เธอก็ถูกพาตัวกลับไปในอาคารผู้โดยสาร
ทั้งนี้ แคนาดาตัดสินใจรับเธอเป็นผู้ลี้ภัยในช่วงเวลาที่อ่อนไหว เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างแคนาดาและซาอุฯ มีความตึงเครียดหลังแคนาดาเรียกร้องให้ซาอุฯปล่อยตัวนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิในปีที่แล้ว ทำให้ซาอุฯไม่พอใจและหยุดดีลการค้ารอบใหม่กับแคนาดา
น.ส.ราฮาฟ ซึ่งตอนแรกขอลี้ภัยในออสเตรเลีย กล่าวว่าที่เธอเลือกแคนาดาแทนเพราะออสเตรเลียใช้เวลานานเกินไปในการตัดสินใจที่จะรับเธอเป็นผู้ลี้ภัย
“ (ออสเตรเลีย) ใช้เวลานานเกินไป ฉันจึงเลือกไปแคนาดาแทน” เธอส่งข้อความถึงสื่อรอยเตอร์ก่อนจะขึ้นเครื่องบินไปโตรอนโต เธอเดินทางไปกับเที่ยวบินของโคเรียนแอร์ที่ออกจากกรุงเทพฯ ไปกรุงโซลของเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 11 ม.ค. และต่อเครื่องไปโตรอนโต
กรณีของเธอทำให้ทั่วโลกให้ความสนใจกับระเบียบสังคมที่เข้มงวดของซาอุฯ ซึ่งผู้หญิงต้องได้รับอนุญาตในการเดินทางจาก “ผู้ปกครอง” ที่เป็นชายก่อน ซึ่งกลุ่มสิทธิระบุว่าเป็นการกักขังผู้หญิงและเด็กหญิงให้เป็นเหมือนนักโทษของครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง
ราฮาฟเดินทางจากคูเวตถึงสนามบินกรุงเทพฯเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่เธอถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศเพราะเธอไม่มีวีซ่า เธอเริ่มโพสต์ข้อความขอความช่วยเหลือบนทวิตเตอร์ในระหว่างอยู่ที่ห้องพักในโรงแรมที่สนามบิน โดยเธอระบุว่าเธอหลบหนีมาจากครอบครัวของเธอที่เดินทางไปเที่ยวที่คูเวต และชีวิตของเธออยู่ในอันตราย เธอจะถูกครอบครัวทำร้ายถึงแก่ชีวิตหากเธอถูกส่งตัวกลับไป
ภายในไม่กี่ชั่วโมง แคมเปญ # SaveRahaf ก็แพร่กระจายไปในทวิตเตอร์ทั่วโลกด้วยเครือข่ายของนักเคลื่อนไหวและหลังจากอยู่ในห้องพักที่โรงแรมนาน 48 ชั่วโมง เธอก็ได้รับการประสานความช่วยเหลือและ UNHCR ดำเนินการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยของเธออย่างรวดเร็ว.