แอปเปิลลดผลิตไอโฟนลง 10%
แอปเปิลลดแผนการผลิตไอโฟนใหม่ลง 10% สำหรับไตรมาสปัจจุบัน อ้างอิงจากรายงานของสื่อนิกเคอิเอชียนรีวิวเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา
โดยบริษัทยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีของสหรัฐฯระบุในเดือนธ.ค.ปี 61 ว่า จะลดจำนวนการผลิตไอโฟนรุ่นใหม่ลงจากแผนที่เคยตั้งเป้าไว้ตั้งแต่แรกในไตรมาสสิ้นสุดเดือนมี.ค. สื่อนิกเคอิรายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับแอปเปิล
นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 เดือนที่แอปเปิลปรับลดแผนการผลิตสมาร์ทโฟนของตัวเองลง อ้างอิงจากรายงานของนิกเคอิ ซึ่งเสริมว่าการปรับลดกำลังการผลิตจะมีผลกับไอโฟนรุ่นใหม่ทุกรุ่นของบริษัท ทั้ง ไอโฟน XS Max, XS และ XR
ภายใต้กรอบที่ปรับแก้ไขใหม่ ปริมาณการผลิตตามแผนของไอโฟนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าจะลดลงประมาณ 40 ล้านเครื่องลงมาอยู่ที่ 43 ล้านเครื่องสำหรับไตรมาสสิ้นสุดเดือนมี.ค. โดยลดลงจากตัวเลขการคาดการณ์ก่อนหน้านี้คือประมาณ 47 – 48 ล้านเครื่อง สื่อนิกเคอิรายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องกับถานการณ์นี้
ทั้งนี้ แอปเปิลยังไม่ได้ให้ความเห็นกลับมาในทันที หลังสื่อ CNBC ติดต่อไปขอสัมภาษณ์ในประเด็นนี้
เมื่อสัปดาห์ก่อน แอปเปิลระบุว่า รายได้ของบริษัทอาจลดลง โดยกล่าวโทษว่าสาเหตุสำคัญคือ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในจีน และรายได้ของไอโฟนที่ต่ำเกินคาดการณ์ในตลาดจีน คำประกาศของซีอีโอ ทิม คุกเขย่าตลาดให้ปั่นป่วนเนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ท่ามกลางสงครามการค้ากับสหรัฐฯที่ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา
นักวิเคราะห์ระบุว่า ซัพพลายเออร์หลายรายของแอปเปิลตระหนักถึงดีมานด์ที่อ่อนแรงลงของไอโฟนได้ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาแล้ว
โดยซีอีโอทิม คุกกล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อ CNBC เมื่อวันที่ 8 ม.ค.ว่า กลุ่มคนที่มองโลกในแง่ร้ายในวอลสตรีทไม่พอใจกับการเติบโตของระบบนิเวศของบริษัททั้งในด้านอุปกรณ์และบริการ
เขายังเน้นถึงความสำเร็จของไอโฟน XR ซึ่งเขากล่าวว่าเป็น “ ไอโฟนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ในทุกๆวัน ตั้งแต่เราเริ่มจัดส่งจนถึงตอนนี้ ”
ในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 8 ม.ค. เขายังระบุว่า เขามองในแง่บวก กับผลของการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่กำลังดำเนินอยู่
หุ้นของแอปเปิลปรับขึ้นเมื่อวันที่ 8 ม.ค. ปิดที่ 150.75 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อหุ้น ขยับขึ้น 1.91% โดยบริษัทจะรายงานรายได้ไตรมาสแรกของปีงบประมาณอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 ก.พ.นี้
นักวิเคราะห์หลายคนระบุว่า สมาร์ทโฟนจากหลายบริษัทมีฟีเจอร์และการใช้งานที่เหมือนกันไปหมด ทำให้ลูกค้าไม่เห็นถึงความแตกต่างของแบรนด์ และสมาร์ทโฟนยังไม่มีนวัตกรรมล้ำสมัยเหมือนที่เคยเป็นมาอีกด้วย.