ญี่ปุ่นประหารนักโทษ 2 ราย รวมทั้งปี 15 ราย
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของญี่ปุ่นระบุว่า มีการประหารชีวิตชาย 2 ราย ด้วยการแขวนคอหลังถูกตัดสินโทษในข้อหาฆาตกรรม ทำให้ภายในปี 61 มีผู้ถูกประหารชีวิต 15 ราย ถือว่าเป็นปีที่มีการประหารมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
ญี่ปุ่นมีนักโทษที่ถูกตัดสินโทษประหารมากกว่า 100 ราย โดยถือว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้วไม่กี่ประเทศที่ยังคงใช้โทษประหารอยู่ และยังมีการสนับสนุนจากทางสังคมที่ค่อนข้างสูงแม้จะถูกวิจารณ์จากต่างชาติ หรือกลุ่มสิทธิมนุษยชนก็ตาม
ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมระบุชื่อชายทั้ง 2 ราย โดยรายแรกคือนายเคย์โซ คาวามุระ วัย 60 ปี และนายฮิโรยะ ซูเอโมริ วัย 67 ปี เมื่อปี 31 ทั้งคู่ได้ฆาตกรรมหัวหน้าและพนักงานบริษัทลงทุนด้วยการรัดคอ หลังจากที่ทั้งคู่ขโมยเงิน 100 ล้านเยน หรือ 29 ล้านบาทไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน พวกเขาได้ทำการฝังศพของผู้ที่ถูกฆาตกรรมใต้คอนกรีตบนภูเขา การตัดสินโทษประหารชีวิตของทั้งคู่ได้รับการยืนยันในปี 47
นายทาคาชิ ยามาชิตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้สัมภาษณ์ในงานแถลงข่าวว่า “การกระทำความผิดของทั้งคู่ถือเป็นการก่ออาชญากรรมร้ายแรงที่สร้างความไม่พอใจต่อสังคม”
นายทาคาชิ อดีตเคยเป็นอัยการก่อนจะรับหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในปัจจุบันระบุว่า เขาได้สั่งให้มีการประหารหลังจากได้ไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนแล้ว และได้สร้างความชัดเจนว่าญี่ปุ่นจะยังไม่ยุติการตัดสินโทษประหารในเร็ววันแน่นอน
เขาระบุว่า “อาชญากรรมร้ายแรงและโหดร้ายไม่สามารถหนีโทษประหารได้พ้น ผมเชื่อว่ามันไม่เหมาะสมที่จะเลิกใช้โทษประหาร”
ในปีนี้ ประเทศญ๊่ปุ่นได้ทำการประหารด้วยการแขวนคอแล้ว 15 ราย เทียบเท่ากับตัวเลขในปี 51 นับตั้งแต่ที่ญี่ปุ่นได้เริ่มประกาศเกี่ยวกับการประหารชีวิตอย่างเป็นสาธารณะในปี 41
การประหารชีวิตในครั้งนี้เกิดขึ้น 5 เดือนหลังจากที่ญี่ปุ่นได้ทำการประหารชีวิตสมาชิกกลุ่มลัทธิที่เคยก่อเหตุโจมตีด้วยแก๊สซารินในปี 38 ที่รถไฟใต้ดิน ณ กรุงโตเกียว และคดีอาชญากรรมอื่น ๆ
สมาชิกทั้งหมด 13 ราย จากกลุ่มลัทธิโอมชินริเกียว โดยรวมถึงโชโก อาซาฮาระ ผู้นำลัทธิดังกล่าว ถูกประหารชีวิตในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากการโจมตีครั้งรุนแรงของกลุ่มลัทธิ ทำให้ผู้คนทั้งโลกหวาดกลัว และกระตุ้นให้คนญี่ปุ่นค้นหาจิตวิญญาณของตนเอง
การประหารชีวิตครั้งใหญ่จุดประกายความไม่พอใจและเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน รวมถึงกลุ่มแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลอีกด้วย
สื่อท้องถิ่นระบุว่า เจ้าหน้าที่ต้องการให้มีการตัดสินโทษประหารกับสมาชิกลัทธิโอมชินริเกียวทั้งหมดก่อนที่จักรพรรดิ์องค์ปัจจุบันสละพระราชสมบัติภายในปีหน้า หรือก็คือการเริ่มต้นยุคใหม่ของญี่ปุ่น.