ผู้ชายญี่ปุ่นเป็นสจ๊วตมากขึ้น
ผู้ชายหลายรายทำอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินมากขึ้นแม้ว่าตลอดมาอาชีพดังกล่าวจะเป็นอาชีพที่มีผู้หญิงทำงานในสัดส่วนที่มากกว่า เนื่องจากสายการบินขนาดเล็กของญี่ปุ่นสนใจที่จะสร้างความแตกต่างจากสายการบินคู่แข่งภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่กว่า
ทั้งการทำงานที่มีลักษณะทางกายภาพเพิ่มขึ้น รวมกับความต้องการเพื่อรับมือกับผู้โดยสารที่ดื้อรั้นหรือมึนเมาที่มีจำนวนมากขึ้น ทำให้อาชีพพนักงานต้อนรับชายบนเครื่องบิน หรือที่เรียกกันว่า โซระดัน เริ่มมีให้เห็นบนสายการบินญี่ปุ่นมากขึ้น
การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของอุตสาหกรรมสายการบินภายในประเทศญี่ปุ่น ที่พยายามจะปรับให้ทันสมัยมากขึ้นของ รวมถึงบทบาททางเพศที่เริ่มสะท้อนออกมาให้เห็นว่าพนักงานต้อนรับชายบนเครื่องบินถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับทั่วโลก
โคอิจิ อิโตะ วัย 38 ปี ได้เข้าร่วมกับสายการบินสตาร์ ฟลายเออร์ สายการบินระดับกลางที่มีฐานอยู่ในสนามบินคิตะคิวชู ในจังหวัดฟุกุโอกะ โดยรับตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหลังจากเคยทำงานที่โรงแรมมาก่อน นายอิโตะระบุว่า เมื่อยังเป็นนักเรียน เขาประทับใจกับพนักงานต้อนรับชายที่เขาพบเวลาเดินทางด้วยสายการบินต่างชาติ
เขาบอกว่า “พวกเขาเท่มากครับ ผมสงสัยว่าทำไมสายการบินญี่ปุ่นถึงรับสมัครแต่ลูกเรือผู้หญิงเท่านั้น” เขาเสริมว่าข้อได้เปรียบบางอย่างของพนักงานชายคือ สามารถช่วยผู้โดยสารยกสัมภาระที่นำขึ้นเครื่องที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นได้ และยังสามารถทำงานอื่น ๆ ที่ต้องใช้แรงกายได้มากขึ้น
เขาระบุว่า “ทั้งพนักงานต้อนรับนเครื่องบินชายและหญิง มีทักษะการรับรู้ความต้องการของผู้โดยสารที่ต่างกันไป และเมื่อนำทั้งสองเพศมาร่วมงานกัน คุณภาพในการบริการก็จะพัฒนายิ่งขึ้นครับ”
สายการบินสตาร์ ฟลายเออร์ มีพนักงานชาย 8 ราย ในบรรดาสมาชิกลูกเรือทั้งหมด 160 ราย และได้วางแผนที่จะรับสมัครพนักงานชายอีก 6 ราย ในฤดูร้อนปีหน้า
ทางเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของสายการบินสตาร์ ฟลายเออร์ ระบุว่า “การมีพนักงานต้อนรับชายบนเครื่องบินนั้นช่วยสร้างความประทับใจให้กับผู้โดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเราให้บริการที่แตกต่างจากสายการบินใหญ่ ๆ แห่งอื่น”
ด้านสายการบินเจ็ทสตาร์ เจแปน สายการบินราคาประหยัดที่มีฐานในเมืองนาริตะ จังหวัดชิบะ มีจำนวนพนักงานชายราว 15% จากสมาชิกลูกเรือทั้งหมด
สายการบินต่างชาติรับสมัครลูกเรือชายในจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของแนวคิดด้านการต้อนรับที่ต่างจากสายการบินภายในประเทศญีุ่่ปุ่น
สำหรับสายการบินใหญ่ระดับประเทศ 2 แห่งของญี่ปุ่น มีจำนวนลูกเรือชายนับเป็น 1% เท่านั้น ทั้งสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ และสายการบินออล นิปปอน แอร์เวย์ โดยนับว่ามีจำนวนพนักงานชายน้อยกว่าสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ ที่มีลูกเรือชายถึง 40% และสายการบินโคเรียน แอร์ไลน์ ที่มีลูกเรือชาย 10%
เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของสายการบินแอร์ ฟรานซ์ที่ซึ่งมีพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินชายมากกว่า 30% ระบุว่า ฝรั่งเศสมีวัฒนธรรมที่ทันสมัยโดยผู้ชายสามารถทำงานได้อย่างทั่วถึงในอุตสาหกรรมการบริการ
ในทางตรงกันข้าม ตั้งแต่ในอดีตจนปัจจุบันสายการบินญี่ปุ่นมักจะรับพนักงานหญิงอายุน้อยเข้าทำงานสำหรับเที่ยวบินต่างประเทศ ทางผู้บริหารสายการบินภายในประเทศระบุเสริมว่า เหตุผลก็เป็นเพราะต้องการที่จะบริการผู้โดยสารที่เป็นนักธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่สถานการณ์ในตอนนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว
ฮิโรกิ นากามุระ วัย 38 ปี พนักงานต้อนรับชายจากสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ ระบุว่า “จำนวนผู้หญิงอายุน้อย และผู้โดยสายต่างชาติที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งผู้โดยสารบางคนที่หวังว่าจะเจอลูกเรือผู้ชายบนเครื่องครับ”
เขาเสริมว่า “เรายังเห็นอีกว่ามีพนักงานต้อนรับชายที่มีอายุในช่วงวัย 20 ปีเพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วยครับ”
โคทาโร่ โทริอูมิ นักวิเคราะห์ด้านการบินระบุว่า จำนวนลูกเรือหญิงที่ทำงานต่อหลังแต่งงานและมีบุตรเริ่มเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านมุมมองที่มีต่ออาชีพนี้ โดยตอนนี้มีผู้ชายที่มองว่าอาชีพลูกเรือถือเป็นตัวเลือกที่เป็นไปได้แล้ว และดูเหมือนว่าจะให้คุณค่ากับอาชีพนี้สูงมากยิ่งขึ้น”
การ์ตูนรายสัปดาห์เรื่อง “โซระดัน” จากสำนักพิมพ์ โคดันฉะ เป็นการ์ตูนเกี่ยวกับเด็กผู้ชายวัย 18 ปีที่สูญสิ้นความหวัง และกลายเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินเพื่อเปลี่ยนชีวิตของเขาเอง ได้กลายเป็นการ์ตูนที่ยิ่งสร้างความสนใจให้กับลูกเรือชายมากยิ่งขึ้น
อิซเซอิ อิโตคาวะ ผู้เขียนการ์ตูนเรื่องดังกล่าว ระบุว่า “เมื่อตอนที่ฉันกำลังค้นคว้า(เพื่อนำมาเขียนการ์ตูน) ฉันได้ทราบว่า ลูกเรือชายจะได้รับหน้าที่ในการแก้ปัญหา อย่างเช่น รับมือกับผู้โดยสารที่เมาหรือผู้โดยสารที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ฉันหวังว่าการ์ตูนของฉันจะสามารถสนับสนุนให้ผู้ชายหลายคนได้เป็นโซระดันค่ะ”.