เฟซบุ๊กลบบัญชี/เพจหนุนทหารเมียนมา
เฟซบุ๊ก ยักษ์ใหญ่โซเชียลมีเดียทรงอิทธิพลประกาศเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ว่า ได้ลบ 425 เพจและ 135 บัญชีในเมียนมา ถือเป็นการป้องปรามบรรดาผู้ใช้งานที่พยายามจะผลักดันข้อความหนุนทหารเมียนมา
นับเป็นครั้งที่ 3 ในเมียนมาในปีนี้ที่เฟซบุ๊กลบคอนเทนต์ที่เรียกว่า “ ให้ความร่วมมือกับพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจ ” โดยในบรรดาคอนเทนต์ที่ถูกลบมี 17 กลุ่มเฟซบุ๊กและ 15 บัญชีที่มีภาพแชร์ร่วมกับอินสตาแกรม ซึ่งเฟซบุ๊กเป็นเจ้าของ
“ จากส่วนหนึ่งของการสืบสวนในพฤติกรรมประเภทนี้ในเมียนมา เราพบว่าเพจข่าวอิสระ บันเทิง ความงาม และไลฟ์สไตล์มีความเชื่อมโยงกับกองทัพเมียนมา และหลายเพจที่เราลบออกล้วนแต่ให้ความร่วมมือกับพฤติกรรมที่ไม่น่าไว้วางใจในเมียนมาเมื่อเดือนส.ค.ปีที่แล้ว ” เฟซบุ๊กระบุในแถลงการณ์บนเว็บไซต์ของบริษัท
ผู้สืบสวนของเฟซบุ๊กแกะรอยลิงก์ที่ใช้อย่างหลากหลาย ทั้งเครื่องมือที่ใช้ล็อกอินเข้าสู่บัญชี รวมถึงไอพีแอดเดรส
ทั้งนี้ ข้อความที่สนับสนุนการกระทำของทหารแพร่หลายกระจัดกระจายอยู่ในโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องบันเทิง ไลฟ์สไตล์และความงาม
“ บริษัทไม่ยอมให้พฤติกรรมเช่นนี้อยู่ในเฟซบุ๊ก เพราะเราไม่ต้องการให้ประชาชน หรือองค์กรสร้างเครือข่ายบัญชีเพื่อชี้นำคนอื่นในทางที่ผิดเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเป็น หรือสิ่งที่พวกเขาทำ ”
เพจเฟซบุ๊กแต่ละเพจที่ถูกลบออกไปมีผู้ติดตามมากถึง 2.5 ล้านคน โดยหนึ่งในกลุ่มเฟซบุ๊กที่ถูกลบมีสมาชิกอย่างน้อยประมาณ 6,400 คน
เฟซบุ๊ก ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในแคลิฟอร์เนียถูกวิจารณ์ว่าชักช้าเกินไปที่จะหยุดผู้ใช้งานจากความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน หรือแพรกระจายข้อมูลในทางที่ผิดบนแพลตฟอร์มของตัวเอง ซึ่งมีการใช้งานอย่างกว้างขวางและใช้เพื่อการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศกำลังพัฒนาอย่างเมียนมา
ในเดือนส.ค.ปีที่แล้ว กลุ่มกบฎติดอาวุธที่เรียกตัวเองว่ากองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกันเข้าโจมตีป้อมตำรวจในรัฐยะไข่ของเมียนมา กองทัพเมียนมาจึงมีปฏิบัติการปรามปรามอย่างรุนแรงจนส่งผลทำให้ชาวมุสลิมโรฮิงญากว่า 700,000 คนต้องอพยพหลบหนีข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศ
ขณะที่เมียนมาระบุว่าพร้อมที่จะรับพวกเขากลับมา แต่ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญายังคงกลัวเรื่องความปลอดภัย และกังวลว่ากระบวนการส่งตัวกลับจะทำให้กระบวนการขอเป็นพลเมืองเมียนมาของพวกเขามีผลน้อยลง หลายหมู่บ้านในเมียนมา ซึ่งถูกทำลายในระหว่างการปราบปรามได้รับการฟื้นฟู ขณะที่ความพยายามที่จะเริ่มกระบวนการส่งตัวคืนในเดือนพ.ย.ล้มเหลว เพราะชาวโรฮิงญา ซึ่งพยายามหลีกเลี่ยงความเป็นไปได้ที่จะถูกควบคุมตัวในสถานที่ซึ่งจัดเตรียมไว้ในเมียนมา มีการประท้วงในบังคลาเทศ
ในวิกฤตครั้งนี้ เฟซบุ๊กถูกตรวจสอบว่าเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการแพร่กระจายแนวคิดต่อต้านชาวโรฮิงญา ในเดือนส.ค.ปีนี้ รายงานการสอบสวนของสหประชาชาติที่ระบุว่าทหารเมียนมากระทำฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ได้กล่าวหาเฟซบุ๊กว่า “ ชักช้าและไม่มีประสิทธิภาพ ” ในการรับมือกับข้อความที่สร้างความเกลียดชัง
ในวันเดียวกับที่สหประชาชาติเผยแพร่รายงาน เฟซบุ๊กระบุว่า ได้แบน 20 องค์กรและบุคคลของเมียนมา รวมทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอกมินอองไลง์ ไม่ให้เข้าใช้งานเฟซบุ๊กเพื่อสร้างกระแสความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และศาสนาได้อีก
นายพลอาวุโสคนนี้ยังคงสามารถท่องโลกออนไลน์ผ่านบัญชีทวิตเตอร์ของเขา รวมถึงเว็บไซต์ด้วย ขณะที่กองทัพเมียนมา ซึ่งปกครองประเทศมานาน 5 ทศวรรษก่อนจะเปลี่ยนผ่านเป็นระบอบประชาธิปไตย ยังคงมีบทบาทในการบริหารประเทศจากรัฐธรรมนูญที่พวกเขาเขียนขึ้น.