หัวเหว่ยถูกกดดันเพิ่มอีกจากยุโรป
บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนอย่างหัวเหว่ยกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกกดดันเพิ่มขึ้นอีกจากสองประเทศมหาอำนาจในยุโรป นับเป็นปัญหาล่าสุดที่บริษัทต้องเผชิญ หลังประสบมรสุมมาอย่างต่อเนื่อง
โดยบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ Orange ประกาศยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์หัวเหว่ยในโครงข่าย 5G ในฝรั่งเศส ขณะที่ Deutsche Telekom ในเยอรมนีระบุว่า จะทบทวนการซื้ออุปกรณ์จากหัวเหว่ย
หัวเหว่ย บริษัทสัญชาติจีนที่ขายทั้งสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม กำลังประสบกับปัญหาการตรวจสอบอย่างเข้มงวดจากทางการสหรัฐฯและประเทศอื่นๆ โดยมีการเตือนว่ามีความเสี่ยงด้านความมั่นคงของชาติจากการใช้ผลิตภัณฑ์ของหัวเหว่ย
นอกจากนี้ กรณีที่เมิ่งว่านจู ซีเอฟโอและบุตรสาวผู้ก่อตั้งหัวเหว่ยเพิ่งถูกจับกุมตัวที่เมืองแวนคูเวอร์ แคนาดาตามหมายจับของสหรัฐฯ ก่อให้เกิดการตั้งคำถามมากมายขึ้นเกี่ยวกับหัวเหว่ย เธอได้รับการประกันตัวออกมา แต่เธอคงต้องต่อสู้ในศาลอีกนานหากถูกส่งตัวไปดำเนินคดีในสหรัฐฯ ซึ่งอัยการกล่าวหาว่าเธอมีส่วนช่วยเหลือหัวเหว่ยในการละเมิดการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ
โดยเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. Orange ผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศสประกาศตัดอุปกรณ์หัวเหว่ยออกจากโครงข่าย 5G ในฝรั่งเศส
“ เราไม่พิจารณาหัวเหว่ยสำหรับโครงข่าย 5G ” Stephane Richard ซีอีโอของ Orange ระบุเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. “ เรากำลังทำงานร่วมกับหุ้นส่วนดั้งเดิมของเรา นั่นคืออีริคสันและโนเกีย ”
ขณะเดียวกัน Deutsche Telekom ระบุว่า กำลังมีการพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับความมั่นคงของโครงข่ายจากบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์จากจีน “ อย่างจริงจังมาก ”
“ เรากำลังพิจารณาผู้ขายจากหลากหลายบริษัทสำหรับอุปกรณ์ของโครงข่าย ทั้งอีริคสัน โนเกีย ซิสโก และหัวเหว่ย ” บริษัทระบุในแถลงการณ์
“ อย่างไรก็ตาม เรากำลังทบทวนการประเมินระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของเรา ”
การประกาศจาก Deutsche Telekom พร้อมกับข่าวจากซอฟท์แบงก์ในสัปดาห์นี้เป็นการลดระดับความน่าเชื่อถือในอุปกรณ์ของหัวเหว่ยลงอีก
ทั้งนี้ หัวเหว่ยถูกดันออกจากตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากส.ส.และรัฐบาลสหรัฐฯกล่าวหาว่า บริษัททำงานภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลจีน โดยบริษัทออกมาปฏิเสธทันที โดยระบุว่า เป็นบริษัทเอกชนที่มีพนักงานบริษัทเป็นเจ้าของ หัวเหว่ยให้สัมภาษณ์กับสื่อ CNN ในเดือนพ.ย.ว่า บริษัทได้รับการเชื่อถือจาก 46 บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่จากทั้งหมด 50 บริษัททั่วโลก
แต่หน่วยงานด้านความมั่นคงกังวลเป็นพิเศษถึงความเกี่ยวข้องของหัวเหว่ยในโครงข่าย 5G ในอนาคต เพราะหัวเหว่ยเป็นผู้ผลิตทั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อ สมาร์ทโฟน และอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง
โดยนิวซีแลนด์และออสเตรเลียสั่งห้ามไม่ให้หัวเหว่ยเข้าประมูลเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย 5G ในทั้งสองประเทศ ขณะที่ในสหราชอาณาจักร กลุ่มบริษัทโทรคมนาคม BT ระบุในสัปดาห์ที่แล้วว่า จะไม่ซื้ออุปกรณ์ของหัวเหว่ยมาใช้ในโครงข่ายไร้สาย 5G ของบริษัท