ยากที่เกาหลีใต้จะหนุนอัตราเกิดได้
เมื่อต้นเดือนนี้ ทางการเกาหลีใต้ประกาศมาตรการเพื่อช่วยหนุนอัตราการเกิดของประชากร แต่นักวิจารณ์มองว่า อาจจะทำให้เกิดผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
บริษัทในเกาหลีใต้รู้สึกลำบากใจที่จะจ้างสตรีที่มีบุตรแล้วเข้าทำงาน เพราะไม่แน่ใจถึงการทุ่มเทเพื่อบริษัท และกลัวว่าพวกเธอจะไม่ยอมทำงานล่วงเวลาดึกดื่นตามมาตรฐานการทำงานของชาวเกาหลีใต้ รวมถึงบริษัทเองพยายามหลีกเลี่ยงที่จะจ่ายเงินให้เมื่อพนักงานลาคลอดและลาเลี้ยงลูก
โดยอัตราการเจริญพันธุ์ หรือตัวเลขที่คาดการณ์ว่าผู้หญิงจะมีบุตรในชั่วชีวิตของเธอ ลดลงมาอยู่ที่ 0.95% ในไตรมาส 3 ของปี 2561 นี้ เป็นครั้งแรกที่ตัวเลขต่ำกว่า 1% และห่างจากตัวเลข 2.1% ที่เป็นอัตราที่จะคงเสถียรภาพการเกิดของประชากรในประเทศไว้ได้
ผลจากแนวโน้ม ( ที่เรียกกันว่า ‘การหยุดงานประท้วงจากผู้หญิง’ ) ทำให้เกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 11 ของโลกและมีจำนวนประชากรอยู่ที่ 51 ล้านคน ได้รับการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรจะเริ่มลดลงในปี 2571
มีเหตุผลหลายอย่างที่ส่งผลต่ออัตราการเกิด ทั้งค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในการเลี้ยงดูเด็ก อัตราการว่างงานสูงของคนหนุ่มสาว การทำงานหนัก และจำนวนสถานเลี้ยงเด็กที่จะรองรับเมื่อแม่ๆกลับไปทำงานที่มีอยู่จำกัด และหากผู้หญิงกลับไปทำงาน พวกเธอต้องรับภาระหนักเป็นสองเท่าคือต้องดูแลลูกและงานบ้านด้วย
ธรรมเนียมประเพณีที่ผู้ชายเป็นใหญ่ในครอบครัวฝังรากลึกในเกาหลีใต้ เกือบ 85% ของชายชาวเกาหลีใต้สนับสนุนแนวคิดให้ผู้หญิงทำงานนอกบ้าน แต่ตัวเลขกลับร่วงลงไปอยู่ที่ 47% เมื่อถูกถามว่า พวกเขาจะสนับสนุนให้ภรรยาทำงานนอกบ้านหรือไม่ อ้างอิงจากผลสำรวจล่าสุด
โดยตัวเลขการจ้างงานชายที่แต่งงานแล้วอยู่ที่ 82% ขณะที่การจ้างงานหญิงที่แต่งงานแล้วอยู่ที่ 53%
ขณะที่ 3 ใน 4 ของสตรีเกาหลีใต้อายุระหว่าง 20 – 40 ปี ระบุว่าการแต่งงานเป็นเรื่องไม่จำเป็น อ้างอิงจากโพลของนิตยสารการเงินและเว็บไซต์รับสมัครงาน แต่เด็กในเกาหลีใต้ส่วนใหญ่ล้วนเกิดจากการสมรส
ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา รัฐบาลเกาหลีใต้ใช้จ่ายงบประมาณเพื่อสนับสนุนการเกิดไปแล้วถึง 136 ล้านล้านวอน หรือราว 3.97 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่ผ่านแคมเปญที่สนับสนุนให้คนหนุ่มสาวแต่งงานและมีบุตร แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
เมื่อต้นเดือนธ.ค.นี้ รัฐบาลประกาศมาตรการรอบใหม่ โดยจะให้เงินอุดหนุนในการเลี้ยงดูเด็ก 3 แสนวอน หรือราว 8,872 บาทต่อเดือน และอนุญาตให้พ่อแม่ที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 8 ปี ทำงานน้อยลง 1 ชั่วโมงในแต่ละวันเพื่อเพิ่มเวลาในการดูแลบุตร นอกจากนี้ จะมีการสร้างสถานรับเลี้ยงเด็กและร.ร.อนุบาลเพิ่ม และผู้ชาย จะได้รับอนุญาตให้ลาได้ 10 วันในช่วงคลอดบุตรของภรรยา มากขึ้นจากเดิมคือ 3 วัน ( แต่ไม่มีการบังคับ)
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมา ไม่ได้มีการบังคับใช้ตามกฎหมายและไม่มีบทลงโทษอย่างชัดเจน หากบริษัทปฏิเสธที่จะให้ผลประโยชน์กับพนักงาน
“ นโยบายรัฐบาลอยู่บนพื้นฐานของแนวคิดแบบเหมารวมว่า ‘หากเราให้เงินมากขึ้น คนก็จะมีลูกมากขึ้น’ ” สมาคมแรงงานสตรีเกาหลีระบุในแถลงการณ์ “ รัฐบาลควรให้ความสนใจกับการเลือกปฏิบัตืทางเพศ และภาระที่เพิ่มเป็นสองเท่าสำหรับผู้หญิงมากกว่า ”
หนังสือพิมพ์สายกลาง Korea Times ตั้งคำถามว่า นโยบายของรัฐบาลจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงหรือไม่ หากรัฐบาลไม่สามารถผลักดันให้ผู้หญิงเห็นด้วยกับการแต่งงานและมีบุตร
“ หากเงื่อนไขที่เป็นอยู่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นสำหรับผู้หญิง เงินอุดหนุนจากรัฐบาลจะมากแค่ไหนก็ไม่อาจโน้มน้าวให้ผู้หญิงมองว่าการมีลูกเป็นทางเลือกที่มีความสุข”