กูเกิลเปิดตัวบริการช้อปในอินเดีย
กูเกิลเปิดตัวบริการช้อปสินค้าในอินเดีย เป็นความเคลื่อนไหวเพื่อชิงความได้เปรียบจากเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังบูมของอินเดีย
โดยกูเกิล – บริษัทยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีระบุว่า นักช้อปชาวอินเดียจะสามารถซื้อสินค้าโดยใช้โฮมเพจกูเกิล ช้อปปิ้ง ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่สามารถใช้บนสมาร์ทโฟน เป็นแท็บช้อปปิ้งใหม่บนเสิร์ชเอ็นจิ้นและภาพสวยงามด้วยฟีเจอร์กูเกิลเลนส์
กูเกิล ช้อปปิ้งทำให้ผู้ใช้งานค้นหาดีลที่น่าสนใจในการซื้อสินค้าที่หลากหลายจากผู้ค้าปลีกจำนวนมาก อ้างอิงจากรายงานของ CNN อเมซอนและวอลมาร์ทซึ่งเป็นเจ้าของ Flipkart ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของอินเดีย จะเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ค้าปลีกในรายชื่อของกูเกิล ช้อปปิ้งในอินเดียด้วย
“ อินเดียมีจำนวนประชากรผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และกำลังจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีก ” Surojit Chatterjee รองประธานฝ่ายจัดการผลิตภัณฑ์ที่กูเกิล ช้อปปิ้ง ระบุในบล็อกโพสต์เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. “ ขณะที่ชาวอินเดีย 400 ล้านคนท่องโลกออนไลน์ในปัจจุบัน แต่กลับมี จำนวนน้อยกว่า 1 ใน 3 ที่ซื้อสินค้าออนไลน์ ”
กูเกิลระบุว่า ผู้ใช้งานจะสามารถเสิร์ชหาสินค้าต่างๆได้ทั้งในภาษาอังกฤษ และภาษาฮินดี โดยบริษัทจะทำรายได้จากบริการช้อปปิ้งนี้จากค่าโฆษณาของผู้ขายสินค้า
ด้วยจำนวนประชากรกว่า 1,300 ล้านคน อินเดียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างรวดเร็ว โดยมีหลายบริษัทอย่าง Flipcart , Snapdeal และ Paytm เป็นผู้มีอิทธิพลในอีคอมเมิร์ซของประเทศนี้ ผลวิจัยโดย Nasscom และ PwC ประเมินว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซของอินเดียจะมีมูลค่าสูงถึง 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 4.93 ล้านล้านบาทภายในปี 2565
ขณะเดียวกัน อเมซอนพยายามจะรุกคืบเข้ามาเกาะกระแสนี้ด้วย โดยบริษัทซื้อหุ้นในบริษัทคู่แข่งในประเทศอย่าง Shoppers Stop ในปี 2560 และมีรายงานว่า บริษัทใกล้ปิดดีลในการเข้าซื้อ Aditya Birla Group ร่วมกับ Samara Capital ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา
Flipcart ซึ่งถูกวอลมาร์ทซื้อในเดือนพ.ค. เป็นผู้ค้าปลีกออนไลน์ที่ได้ส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในอินเดีย โดยมีผู้ใช้งาน 100 ล้านราย และผู้ค้า 100,000 รายบนแพลตฟอร์มของบริษัท เป็นสัญญาณการเติบโตที่ผลักดันให้กูเกิลตัดสินใจเข้าสู่โลกของอีคอมเมิร์ซ และเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดจากจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เพื่อแผ่ขยายอิทธิพลในอินเดีย
บริการช้อปปิ้งของกูเกิลต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านกฎระเบียบจากสหภาพยุโรปเช่นกัน เมื่อปลายปีที่แล้ว ทางอียูได้สั่งปรับกูเกิลเป็นจำนวนสูงถึง 2,400 ล้านยูโร หรือราว 90,552 ล้านบาท จากการละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดทางการค้า โดยอียูกล่าวหาว่า กูเกิลทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการใช้บริการ ด้วยการกำหนดทิศทางให้ผู้ใช้งานเสิร์ชเอ็นจิ้นเข้าสู่แพลตฟอร์มช้อปปิ้งของบริษัทก่อนเป็นลำดับแรก.