สื่อทั่วโลกโดนขังพุ่งสูงเกือบทุบสถิติ
จำนวนผู้สื่อข่าวทั่วโลกที่ถูกจับกุมและคุมขังในขณะทำหน้าที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ รวมถึง 2 นักข่าวที่ถูกจำคุกในเมียนมา ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในระดับนานาชาติ อ้างอิงจากรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.
มีผู้สื่อข่าว 251 คนทั่วโลกที่ถูกจับกุมตัวและขังคุกจนถึงวันที่ 1 ธ.ค. คณะกรรมการปกป้องผู้สื่อข่าว (CPJ) ระบุในรายงานประจำปี นับเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่ทางการกล่าวหาผู้สื่อข่าวว่ามีพฤติกรรมต่อต้านรัฐบาล โดยมากกว่าครึ่งอยู่ในตุรกี จีน และอียิปต์
“ ดูเหมือนจะเป็นเทรนด์ไปแล้วตอนนี้ ” Elena Beiser ผู้เขียนรายงานระบุในคำสัมภาษณ์ “ ดูเหมือนจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ ”
จำนวนนักข่าวที่ถูกขังคุกในข้อหา “ข่าวเท็จ” เพิ่มเป็น 28 คน เพิ่มขึ้นจาก 21 คนเมื่อปีก่อน และ 9 คนเมื่อปี 2559 อ้างอิงจากข้อมูลของ CPJ ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ส่งเสริมเสรีภาพสื่อ
รายงานยังวิจารณ์ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ที่มักจะกล่าวว่าร้ายสื่ออยู่บ่อยครั้งว่าเป็นที่มาของ “ข่าวลวง” เป็นเหมือนคำติดปากที่ผู้นำหลายคนมักพูดเพื่อโต้กลับคำวิจารณ์ในหลายประเทศ อย่างฟิลิปปินส์ และตุรกี
มีการเผยแพร่รายงานฉบับนี้ในสัปดาห์เดียวกับที่นิตยสารไทม์ยกย่องให้นักข่าวหลายคนเป็น “บุคคลแห่งปี”
โดยในกลุ่มนี้รวมถึงนักข่าวรอยเตอร์ Wa Lone และ Kyaw Soe Oo ซึ่งต้องโทษจำคุกครบ 1 ปีในวันที่ 12 ธ.ค. และผู้สื่อข่าวชาวซาอุดิอาระเบีย จามาล คาชอกกี ซึ่งถูกสังหารในสถานกงสุลซาอุฯ ที่กรุงอิสตันบุลเมื่อสองเดือนก่อน
Wa Lone วัย 32 ปี และ Kyaw Soe Oo วัย 28 ปี ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริงในเดือนก.ย.จากการละเมิดกฎหมายความลับของทางราชการเมียนมาและมีโทษจำคุก 7 ปี โดยในเวลานั้น พวกเขาทั้งคู่กำลังสืบสวนกรณีการสังหารหมู่ชาวมุสลิมโรฮิงญา 10 คน ซึ่งมีทั้งผู้ชายและเด็กในระหว่างการปรามปรามที่ผลักดันให้ชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายแสนคนอพยพลี้ภัยไปบังคลาเทศ ทนายความของนักข่าวรอยเตอร์ทั้งสองคนยื่นอุทธรณ์ข้อกล่าวหาและคำตัดสิน
นางอองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมาระบุว่า การจำคุกนักข่าวทั้งสองคนไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการพูด โดยเธอแสดงความเห็นในสัปดาห์ที่มีคำตัดสินของศาล เธอระบุว่าพวกเขาถูกตัดสินโทษจำคุกเพราะละเมิดกฎหมายความลับของทางราชการ และ “ ไม่ได้โดนโทษจำคุกเพราะพวกเขาเป็นนักข่าว ”
โดยตุรกีเป็นประเทศที่ลิดรอนเสรีภาพสื่อมากที่สุด CPJ รายงาน มีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 68 คนที่ต้องโทษจำคุกในข้อหาต่อต้านรัฐบาล ขณะที่มีนักข่าวอีกอย่างน้อย 25 คนที่ต้องโทษจำคุกในอียิปต์
ก่อนหน้านี้ ตุรกีชี้แจงว่าการปรามปรามเป็นไปอย่างยุติธรรม เพราะมีความพยายามจะทำรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลในปี 2559 ขณะที่อียิปต์ชี้ว่า เป็นการกระทำเพื่อกำจัดกลุ่มติดอาวุธที่พยายามยึดครองพื้นที่ในประเทศ โดยในปี 2554 มีการลุกฮือของประชาชนเพื่อโค่นล้มอดีตผู้นำที่ปกครองประเทศมายาวนานคือฮอสนี มูบารัค
เมื่อถูกถามถึงนักข่าวที่ถูกควบคุมตัว ลู่กัง โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนระบุว่า “ ไม่มีการใช้มาตรการทางกฎหมายเพราะผู้ต้องสงสัย หรืออาชญากรมืออาชีพเหล่านี้ เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกัน ” จำนวนผู้สื่อข่าวที่ต้องโทษจำคุกลดลง 8% จากปีก่อนที่สูงถึง 272 คน CPJ รายงาน
โดยจำนวนทั้งหมดไม่ได้นับรวมกับนักข่าวที่หายตัวไป หรือถูกจับโดยกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ CPJ ระบุว่า มีนักข่าวหลายสิบคนที่สูญหายหรือถูกลักพาตัวไปในประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ รวมถึงอีกหลายคนที่ถูกกลุ่มกบฎ Houthi กักขังในเยเมน