แต่งงานเพศเดียวกันแพ้ประชามติในไต้หวัน
การแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันในไต้หวันต้องเลื่อนออกไปหลังกลุ่มอนุรักษ์นิยมชนะการลงประชามติเพื่อความเท่าเทียมกันเรื่องการแต่งงาน
คำตัดสินของศาลในเดือนพ.ค.ปี 2560 ทำให้ไต้หวันเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ทำให้การแต่งงานของคุ่รักเพศเดียวกันจะกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมาย โดยศาลมีกำหนดกรอบเวลาให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงให้เกิดเป็นกฎหมายต้องเสร็จสมบูรณ์ภายใน 2 ปี ก่อให้เกิดความยินดีและการมองในแง่บวกแก่ประชาคมชาว LGBT ในไต้หวัน
แต่เกือบ 18 เดือนผ่านไป เพิ่งจะมาถึงวันลงประชามติในวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากรัฐบาลถ่วงเวลาในการเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้คัดค้านที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยมในประเด็นนี้
โดยการลงประชามติเมื่อวันที่ 24 พ.ย.คือการถามว่าการแต่งงานควรเป็นชายกับหญิงเท่านั้น และฝ่ายอนุรักษ์นิยมชนะไปด้วยคะแนนกว่า 7 ล้านเสียงที่สนับสนุนให้มีการแต่งงานเฉพาะชายกับหญิงตามประมวลกฎหมายแพ่ง โดยนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชาวเกย์เสนอว่า ประมวลกฎหมายแพ่งควรให้สิทธิที่เท่าเทียมกับคู่รักเพศเดียวกันในการแต่งงาน แต่รวบรวมเสียงสนับสนุนได้เพียง 3 ล้านเสียงเท่านั้น
หวังเทียนหมิง วัย 57 ปี และโฮเฉียงวัย 75 ปี คู่รักเพศเดียวกันระบุว่า หลังคำตัดสินของศาลในปีที่แล้ว ทำให้พวกเขามีความหวังที่จะได้แต่งงานกัน หลังใช้ชีวิตด้วยกันมานานถึง 30 ปี แต่หลังการลงประชามติ พวกเขาคิดว่าคงได้แต่ซื้อบ้านร่วมกัน และเมื่อคนหนึ่งจากโลกนี้ไป อีกฝ่ายก็จะได้มรดกเป็นบ้านไว้อาศัยอยู่ต่อไป
แม้รัฐบาลชี้แจงว่า ผลการลงประชามติจะไม่กระทบกับคำสั่งศาลเดิมที่ให้การแต่งงานเพศเดียวกันเป็นเรื่องถูกกฎหมายภายใน 2 ปี แต่ผู้สนับสนุนการแต่งงานของชาวเกย์กังวลว่าสิทธิที่พวกเขาเพิ่งได้มาจะถูกบั่นทอนลง เนื่องจากศาลไม่ได้ชี้เฉพาะเจาะจงว่าจะทำอย่างไร ทำให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมมีพื้นที่ในการเรียกร้องให้มีกระบวนการทางกฎหมายที่แยกเป็นอีกฉบับ
และเนื่องจากการลงประชามติแนวอนุรักษ์นิยมชนะด้วยเสียงเกิน 25% ของผู้ลงคะแนน ทำให้ตามกฎหมายแล้ว รัฐบาลต้องมีขั้นตอนในการสะท้อนผลการลงประชามติ
“ การมีกฎหมายพิเศษ (สำหรับชาวเกย์) ทำให้เราเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง ” โฮกล่าวกับสื่อ AFP โดยเสริมว่า การมีกฎหมาย 2 ระบบ จะเป็นการทำลายชื่อเสียงของไต้หวันในฐานะผู้บุกเบิกเพื่อสิทธิการแต่งงานที่เท่าเทียมในระดับนานาชาติ
“ คนไต้หวันให้คุณค่ากับความเท่าเทียมและเสรีภาพ หากชาวเกย์ถูกปฏิบัติเหมือนพลเมืองชั้นสอง ความเท่าเทียมอยู่ที่ไหนกัน ? นี่เป็นซอฟท์พาวเวอร์ของเรา ” โฮกล่าว
ขณะที่คู่รักอีกคู่ กัวฮวยเหวิน และคู่ชีวิตที่ใช้ชีวิตร่วมกันนาน 13 ปีของเธอแสดงท่าทีของความผิดหวังหลังทราบผลการลงประชามติ โดยกัว วัย 40 ปีกล่าวว่า เธอเสียใจและผิดหวังมาก แต่ยังคงรู้สึกดีที่มีผู้สนับสนุนการแต่งงานเพศเดียวกันมากถึง 3 ล้านเสียง
เธอกำลังตั้งครรภ์บุตรคนที่ 2 และระบุว่า พวกเธอถูกบีบให้ต้องยอมรับการแต่งงานภายใต้กฎหมายอีกฉบับเพื่อผลประโยชน์ของบุตรของพวกเธอ แม้จะไม่เห็นด้วย และยังอยากมีสิทธิในการแต่งงานที่เท่าเทียมกันก็ตาม
“ เราต้องยืดหยุ่นในการปรับตัว เพราะเรามีลูก และเราไม่สามารถจ่ายได้ทั้งหมด เราจะจดทะเบียน แม้จะเป็นกฎหมายอีกฉบับ ไม่ใช่เพราะเราพอใจ แต่เพราะเราจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองทันที ”