“ ไช่ ” ลาออกจากหัวหน้าพรรค
ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินแห่งไต้หวันลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลที่ส่งเสริมประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 พ.ย. หลังจากพรรคพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งกลางเทอม ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงการเลือกตั้งสมัยหน้า
“ ในฐานะหัวหน้าพรรค ดิฉันขอแสดงความรับผิดชอบกับผลการเลือกตั้งท้องถิ่นในวันนี้ ” ประธานาธิบดีไช่ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว
“ ดิฉันขอลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค DPP ความพยายามของเราไม่เพียงพอ และเราทำให้ผู้สนับสนุนของเราซึ่งสู้เพื่อเราต้องผิดหวังดิฉันต้องขออภัยจากส่วนลึกของหัวใจ ”
พรรค DPP สูญเสียฐานเสียงที่มั่นคงในเมืองเกาสงเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี นอกจากนี้ ทางพรรคยังพ่ายแพ้ในเมืองไทจง ซึ่งเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของไต้หวันอีกด้วย
การเลือกตั้งในท้องถิ่นครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการทดสอบกลางเทอมสำหรับประธานาธิบดีไช่ เนื่องจากเธอเผชิญกับการโต้กลับเรื่องการปฏิรูปประเทศและความกังวลว่าความสัมพันธ์กับจีนจะเลวร้ายลง
ผลการเลือกตั้ง ซึ่งเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งหน้ามากกว่าหนึ่งปี ถูกจีนจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจีนอ้างสิทธิในไต้หวัน (ซึ่งมีการปกครองเป็นของตัวเองและเป็นประชาธิปไตย) ว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีน
โดยพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านที่มีความใกล้ชิดกับจีน ชนะการเลือกตั้งทั้งในเมืองเกาสงและไทจง
ประธานาธิบดีไช่ระบุว่า แม้พรรค DPP จะสะท้อนถึงความพ่ายแพ้ แต่เธอยืนยันว่าจะเดินหน้านโยบายของพรรคต่อไป
“ การปฏิรูปจะดำเนินต่อไป เสรีภาพและประชาธิปไตย และการปกป้องอธิปไตยของประเทศ เป็นภารกิจที่พรรค DPP จะไม่ละทิ้ง ” เธอกล่าวกับผู้สื่อข่าว โดยไช่ระบุว่า เธอจะไม่ยอมรับการลาออกของนายกรัฐมนตรีวิลเลียม ไล ซึ่งเสนอตัวขอลาออกก่อนหน้านี้
ไลโพสต์บนเพจเฟซบุ๊กว่า “ ผลการเลือกตั้งชี้ให้เห็นว่า ประชาชนไม่พอใจ สำหรับเรื่องนี้ ผมรู้สึกเสียใจ และขอลาออกกับประธานาธิบดีไช่อิงเหวินเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ”
อย่างไรก็ตาม พรรค DPP ยังคงเอาชนะได้ใน 2 เขตเลือกตั้งคือไถหนาน ซึ่งเป็นเกาะทางใต้ และเถาหยวน ซึ่งอยู่ทางเหนือ
ความเชื่อมั่นในรัฐบาลค่อยๆ ลดลงในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ หลังการปฏิรูปทำให้ทั้งฝ่ายผู้คัดค้านและผู้สนับสนุนไม่พอใจ โดยพวกเขากล่าวว่าประธานาธิบดีไช่หันหลังให้กับคำสัญญาที่จะลดตัวเลขการขาดดุลและมลภาวะ
นอกจากนี้ ความท้าทายครั้งสำคัญของประธานาธิบดีไช่ยังมีขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.เมื่อมีการลงประชามติเพื่อโหวตให้การแต่งงานของเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นประเด็นที่สร้างความแตกแยกร้าวลึกในสังคมไต้หวัน โดยศาลรัฐธรรมนูญของไต้หวันมีคำตัดสินเป็นครั้งแรกของเอเชียเมื่อเดือนพ.ค.ปี 2560 ว่า คู่รักเพศเดียวกันมีสิทธิที่จะแต่งงานกันอย่างถูกกฎหมาย และให้เวลา 2 ปีในการทำให้เรื่องนี้กลายเป็นกฎหมาย
แต่บรรดาผู้มีสิทธิเลือกตั้งในไต้หวันกลับสนับสนุนการลงประชามติต่อต้านการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิชาว LGBT ระบุว่าเป็นการทำลายชื่อเสียงของไต้หวันที่เป็นประเทศบุกเบิกสิทธิด้านนี้มาก่อน.