10 ประเทศดึงดูดคนเก่งมากสุดในโลก
หากคุณต้องการพัฒนาทักษะใหม่ๆ หรือแวดล้อมไปด้วยเพื่อนร่วมงานที่เป็นแรงบันดาลใจ คุณควรพิจารณายุโรปเป็นที่แรก
นั่นเป็นเพราะรายงานใหม่จาก IMD Business School พบว่าประเทศในยุโรปมีงานที่ดีกว่าที่น่าดึงดูดใจและพัฒนาพนักงานที่มีศักยภาพได้มากกว่าประเทศในภูมิภาคอื่นๆทั่วโลก
เป็นปีที่ 5 ที่มีการทำผลสำรวจมา ที่สวิตเซอร์แลนด์รั้งอันดับ 1 ของ World Talent Ranking จากคะแนนในด้านการลงทุนด้านการศึกษาและฝึกอบรม รวมถึงความสามารถในการดึงดูดพนักงานมากความสามารถจากต่างประเทศ ตามมาด้วยประเทศอื่นๆ คือเดนมาร์ก นอร์เวย์ ออสเตรีย และเนเธอร์แลนด์
โดยแคนาดา ซึ่งอยู่ในอันดับ 6 เป็นประเทศนอกยุโรปเพียงประเทศเดียวที่ติดอยู่ใน 10 อันดับแรก โดยลำดับถัดมาคือ ฟินแลนด์ สวีเดน ลักเซมเบิร์ก และเยอรมนี
สหรัฐฯ (12) ออสเตรเลีย (14) และสหราชอาณาจักร (23) ต่างพลาดจาก 10 อันดับแรก โดยการสำรวจมีทั้งหมด 63 ประเทศ โดยวัดจากความสามารถเพื่อพัฒนา การดึงดูดใจ และรักษาผู้มีศักยภาพไว้ได้
สิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในอันดับ 13 เป็นอันดับที่ดีที่สุดสำหรับประเทศในเอเชียสำหรับพนักงานที่มีศักยภาพ สูงกว่าฮ่องกงที่อยู่อันดับ 18
ขณะที่จีน (39) อินโดนีเซีย (45) และอินเดีย (53) อยู่ในกลุ่มประเทศอื่นๆในเอเชีย รวมทั้งไทยที่ได้อันดับ 42
รายงานนี้เป็นผลจากการรวบรวมผลสำรวจผู้บริหารบริษัท และข้อมูลภายนอก โดยมีมาตรวัดประเทศต่างๆใน 3 ปัจจัย คือ การลงทุนและพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศ การดึงดูดใจแรงงานต่างชาติ (เช่น คุณภาพชีวิต ภาษี และค่าครองชีพ) และความสามารถในการสร้างโอกาสงานและฝึกอบรมพนักงานใหม่
Arturo Bris ผอ.IMD World Competitiveness Center กล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อ CNBC ว่า สิ่งที่พบสะท้อนการลงทุนด้านการศึกษาครั้งประวัติศาสตร์และการฝึกอบรม
“ คุณจะพบว่า ประเทศในยุโรปยึดครอง 10 อันดับแรกไว้ได้เป็นส่วนใหญ่” ฺBris ระบุ “ประเทศเหล่านี้ได้ประโยชน์จากระบบการศึกษาที่ดีซึ่งสืบทอดกันมายาวนาน และความสามารถในการพัฒนาพนักงาน ”
นี่เป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะสำหรับสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้พัฒนา “ การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ใช้ได้จริง ” ในการออกแบบระบบการศึกษาไปจนถึงการผลิต การวิจัยและพัฒนา และงานด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เขาระบุ
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ซึ่งรั้งอันดับประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันมากที่สุดในโลก จากผลการศึกษาแยกอีกชิ้นหนึ่งของ IMD ร่วงลงมาในแง่ของการลงทุนและประสิทธิภาพของระบบการศึกษา
ขณะยุโรปชิงพื้นที่ได้มากที่สุดในรายงานในปี 2561 แต่อาจมีการตั้งคำถามถึงอันดับในอีกหลายปีหน้าและหลายทศวรรษ Bris ชี้
เนื่องจากนายจ้างและพนักงานต้องมีการเปลี่ยนแปลงประเภทของงานใหม่ หลายประเทศต้องทำให้มั่นใจว่า พวกเขาได้จัดหาบรรยากาศที่เอื้อประโยชน์ ไม่เพียงเพื่อการทำงานในวันนี้เท่านั้น แต่เพื่อพรุ่งนี้ด้วย เขากล่าว
“ เราควรเลี่ยงที่จะคิดถึงการศึกษาว่าจะให้งานฉันทำในวันนี้ ” Bris กล่าว “ เราจำเป็นต้องพิจารณาระบบการศึกษา และทักษะที่จะช่วยเรื่องงานในอนาคต ”
“ ผมคิดว่า ทักษะทางเทคนิคกำลังจะสูญเสียไปสำหรับคนรุ่นใหม่ ” เขาเสริม โดยชี้ว่า มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับงานที่มีทักษะสูงในระยะสั้น แต่แล้วก็จะมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ “ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม” ในระยะยาว
ในส่วนนี้ สหรัฐ ฯและประเทศในยุโรปมุ่งเน้นที่ทักษะในการสร้างสรรค์ และการเรียนเพื่อเรียนรู้ ซึ่งจะเหมือนกับการติดอาวุธทางปัญญาที่ดี เขาเสริม.