คาเธ่ย์ขอโทษข้อมูลรั่ว
เมื่อวันที่ 14 พ.ย. สองผู้บริหารสูงสุดของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิกกล่าวขอโทษในกรณีที่ทางสายการบินถูกแฮ็กข้อมูลของผู้โดยสารนับล้าน แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้พยายามที่จะปกปิดเรื่องนี้
โดยซีอีโอและประธานของคาเธ่ย์ยังระบุว่า วิกฤตครั้งนี้เป็น “หนึ่งในเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุด” ในประวัติศาสตร์ของบริษัท และจะมีการดำเนินการที่แตกต่างจากเดิมในสถานการณ์ที่เหมือนกันในอนาคต
ทั้งสองผู้บริหารได้รับหมายเรียกเพื่อเข้าให้การกับทางส.ส.ว่า ทำไมทางสายการบินจึงใช้เวลานานถึง 5 เดือนกว่าที่จะออกมายอมรับว่าถูกแฮ็กและข้อมูลของผู้โดยสาร 9.4 ล้านคนรั่วไหล รวมถึงเลขที่หนังสือเดินทางและรายละเอียดบัตรเครดิต
ส.ส.ตำหนิว่า เวลาที่ล่าช้าเป็น “ความพยายามอย่างโจ่งแจ้ง” ที่จะปกปิดเหตุการณ์ และเป็นการลิดรอนโอกาสนานหลายเดือนของผู้โดยสารที่จะปกป้องข้อมูลส่วนตัวของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม John Slosar ประธานสายการบินคาเธ่ย์ระบุว่า “ ผมขอชี้แจงเพื่อความกระจ่างว่า เราไม่มีความพยายามที่จะปกปิดเรื่องที่เกิดขึ้น” โดยเขาเสริมว่า “ ผมมองว่าประเด็นนี้เป็นหนึ่งในวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดที่สายการบินของเราเคยประสบมา”
โดยก่อนหน้านี้ เขาได้อ่านแถลงการณ์ที่ระบุว่า “ ผมต้องขอโทษเป็นการส่วนตัวโดยตรงไปถึงคุณและประชาชนชาวฮ่องกงทุกคน”
มีรายงานข่าวในสัปดาห์นี้ว่า ข้อมูลรั่วเป็นผลมาจากการที่สายการบินถูกโจมตีทางไซเบอร์เป็นเวลานานถึง 3 เดือน โดยคาเธ่ย์พบว่า มีธุรกรรมต้องสงสัยบนโครงข่าย และยืนยันการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงต้นเดือนพ.ค. แต่ไม่ได้รายงานต่อสาธารณะจนกระทั่งวันที่ 24 ต.ค.
ซีอีโอ Rupert Hogg อธิบายว่า บริษัทต้องการเวลาเพื่อสร้างลักษณะการโจมตี รับรู้ปัญหาและตรวจสอบข้อมูลที่ถูกขโมย แต่ระบุว่า บริษัทรู้สึกเสียใจที่ใช้เวลานานในการจัดการ
“ เราได้บทเรียนมากจากความพยายามที่จะทำสิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้อง ซึ่งจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับลูกค้าของเรา เพื่อให้แน่ใจว่าเรารู้ว่าข้อมูลใดเป็นของพวกเขา เราจะทำในสิ่งที่แตกต่างจากนี้ในอนาคต” เขากล่าว
เมื่อถูกกดดันจากส.ส. Kwok Ka-Ki ในประเด็นว่าคาเธ่ย์จะรายงานลูกค้าทันทีหรือไม่ หากมีข้อมูลรั่วไหลอีกครั้ง Slosar กล่าวว่า “เราจะรายงานทันที แน่นอนครับ”
Slosar ยังได้กล่าวกับส.ส.ว่า ประเด็นข้อมูลรั่วเป็นผลประโยชน์สาธารณะครั้งใหญ่ แต่เป็นข้อมูลไม่สำคัญ หรือเป็นประเด็นอ่อนไหวด้านราคา
ทางคาเธ่ย์ระบุว่า สายการบินได้ติดต่อลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังไม่ได้ระบุถึงค่าชดเชยเยียวยา และค่าใช้จ่ายที่อาจเพิ่มสูงขึ้น
โดยบริษัทได้ต่อสู้เพื่อรับมือกับการขาดทุน เนื่องจากสายการบินถูกกดดันจากคู่แข่งที่เป็นสายการบินต้นทุนต่ำของจีนและสายการบินตะวันออกกลาง
คาเธ่ย์รายงานการขาดทุนตลอดทั้งปีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ 7 ทศวรรษของบริษัท และก่อนหน้านี้ได้ระบุว่าจะปรับลดพนักงานออก 600 คน รวมทั้ง 1 ใน 4 ของฝ่ายบริหารจัดการ ถือเป็นการยกเครื่องครั้งใหญ่ที่สุดในหลายปีของสายการบิน
ทั้งนี้ หุ้นของคาเธ่ย์ปรับเพิ่มขึ้น 4% ในช่วงบ่ายของการซื้อขาย.