หุ้นเฟซบุ๊กร่วง 30%
หุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่เฟซบุ๊กเปิดขายอยู่ที่ 150.13 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหุ้น ลดลงมากกว่า 30% จากที่เคยพุ่งสูงในเดือนก.ค. เนื่องจากบริษัทยังเผชิญกับข่าวฉาว ข่าวเท็จ และตลาดเทขายหุ้นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างหนัก
ที่จริงแล้ว เฟซบุ๊กเอาตัวรอดมาได้จากจุดตกต่ำที่สุดในช่วงเวลาที่ข่าวฉาวเรื่องข้อมูลรั่วไปอยู่ในมือของสถาบันที่ปรึกษาการเมืองอย่าง Cambridge Analytica เปิดเผยขึ้นมาในเดือนมี.ค.ทำให้เกิดความไม่พอใจในบรรดาผู้ใช้งานและหน่วยงานที่กำกับดูแลของทั้งสหรัฐฯและยุโรป ทำให้ซีอีโอของเฟซบุ๊กอย่างมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวนของวุฒิสภาสหรัฐฯ และในปัจจุบันเฟซบุ๊กเพิ่งเกิดสถานการณ์ปัญหาใหม่ที่มีข้อมูลรั่วไหลเกือบ 50 ล้านบัญชีผู้ใช้งาน และอาจมีผลทำให้คณะกรรมาธิการยุโรปสั่งปรับบริษัทในกรณีนี้เป็นเงินก้อนใหญ่
ยิ่งปัญหาการละเมิดความเป็นส่วนตัวลากยาวต่อไป ไม่เพียงก่อให้เกิดความกังวลในประเด็นการแทรกแซงการเลือกตั้ง แต่ยังก่อให้เกิดความเสียหายกับธุรกิจหลักของเฟซบุ๊กด้วย
“ เป็นครั้งแรก ที่เราได้ยินว่ากลุ่มลูกค้าผู้ลงโฆษณาเริ่มลังเลใจที่จะเทงบโฆษณามาที่เฟซบุ๊กเหมือนก่อน” Ross Sandler นักวิเคราะห์ประจำ Barclays ระบุในเอกสารนักลงทุนในสัปดาห์นี้
ขณะเดียวกัน บริการใหม่ Portal ซึ่งเป็นวีดีโอโฟนในเมสเซนเจอร์ ซึ่งเฟซบุ๊กเพิ่งเปิดตัวในสัปดาห์นี้ ยังก่อให้เกิดประเด็นความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวจากผู้ใช้งาน ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลลบกับบริษัทมาตลอดทั้งปี
ในเดือนก.ค. หุ้นเฟซบุ๊กดิ่งร่วงลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์หลังผู้บริหารชี้แจงกับนักลงทุนว่า ยอดขายโฆษณาของบริษัทอาจชะลอตัวลงเนื่องจากบริษัทให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวเป็นอันดับแรก
ที่สร้างความผันผวนให้เฟซบุ๊กอยู่ในตอนนี้คือ Stories ซึ่งเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ของบริษัท โดย Stories เป็นรูปแบบวิชวลทีได้รับความนิยมจาก Snapchat แต่ยังมีความกังขาถึงศักยภาพในการโฆษณาของฟีเจอร์นี้
“ คำถามคือนี่จะสามารถทำรายได้เท่ากับ News Feed หรือไม่” Sheryl Sandberg ซีโอโอของเฟซบุ๊กระบุในการประชุมกับนักวิเคราะห์เมื่อเดือนก.ค. “ และพูดตามตรงคือเราก็ไม่ทราบจริงๆ ”
เฟซบุ๊กจำเป็นต้องมีตัวเร่งเชิงบวกเพื่อเริ่มต้นการฟื้นฟู อ้างอิงจาก Sandler ซึ่งอาจมาจากรายงานรายได้ในเดือนนี้ แม้ว่าเธอจะคิดว่า มีแนวโน้มว่าหุ้นของเฟซบุ๊กอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า
โดยตัวเร่งหนึ่งที่มีศักยภาพคืออินสตาแกรม ที่ถูกมองว่าเป็นความลับในการทำรายได้ของเฟซบุ๊ก โดยอินสตาแกรมมีผู้ใช้งานรายเดือนมากกว่า 1 พันล้านบัญชี และเริ่มเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่อย่างวิดีโอออปชั่น และช้อปปิ้งทูลแล้ว
สองผู้ก่อตั้งอินสตาแกรมที่เพิ่งออกไปจากบริษัท ถือเป็นการปูทางอย่างมีศักยภาพให้เฟซบุ๊กมีอำนาจในการควบคุมทิศทางของอินสตาแกรม
“ ทีมบริหารใหม่จะทำให้อินสตาแกรมทำรายได้มากขึ้น” Scott Kessler นักวิเคราะห์จาก CFRA ระบุในบทวิเคราะห์สัปดาห์นี้
ข้อเสียคือ เฟซบุ๊กแตกแยกกับผู้ก่อตั้งของอินสตาแกรมและ WhatsApp ซึ่งเป็น 2 กิจการที่มีมูลค่าสูงที่สุดที่เฟซบุ๊กเข้าไปเทคโอเวอร์ ซึ่งทำให้เป็นเรื่องยากที่จะโน้มน้าวให้ทั้งสองมาเข้าร่วมกับเฟซบุ๊กในอนาคต.