สหรัฐฯขาดดุลการค้าสูงสุดใน 6 เดือน
สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 6 เดือนในเดือนส.ค.เนื่องจากปริมาณการส่งออกถั่วเหลืองลดลง และการนำเข้าพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ชี้ให้เห็นว่าการค้ามีน้ำหนักมากในการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 3
กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ระบุเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ว่า การขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้น 6.4% มาอยู่ที่ 53,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ต่อเนื่องกัน ข้อมูลในเดือนก.ค.ที่ถูกปรับแก้แสดงให้เห็นว่า การขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แทนที่ตัวเลขที่รายงานไว้เดิมคือ 50,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยการขาดดุลการค้าจากสินค้าที่มีความอ่อนไหวกับจีนเพิ่มขึ้น 4.7% ทำสถิติสูงสุดอยู่ที่ 38,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ขณะที่โพลสำรวจนักเศรษฐศาสตร์จากรอยเตอร์คาดการณ์ว่า การขาดดุลการค้าโดยรวมของสหรัฐฯ จะเพิ่มเป็น 53,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนส.ค.
ช่องว่างการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ ยิ่งกว้างขึ้น แม้รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จะปฏิบัติตามนโยบาย “America First” แต่กลับทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยิ่งดุเดือดขึ้น
นอกจากนี้ สหรัฐฯยังมีมาตรการภาษีเพื่อกีดกันสินค้านำเข้าจากสหภาพยุโรป แคนาดา และเม็กซิโกด้วย โดยล่าสุด สหรัฐฯยังบีบให้แคนาดาและเม็กซิโกต้องทำข้อตกลงการค้าใหม่กับสหรัฐฯ แทนที่ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA เดิม
รัฐบาลทรัมป์ระบุว่า การลดจำนวนการขาดดุลการค้าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งก่อให้เกิดการโต้แย้งจากนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากว่า อาจมีข้อจำกัดที่ส่งผลกระทบ เช่น ความสามารถในการผลิตต่ำและการเติบโตของจำนวนประชากรชะลอตัว
เมื่อมีการปรับแก้ตัวเลขเงินเฟ้อ จาก 82,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนก.ค. ช่องว่างทางการค้ากว้างขึ้นเป็น 86,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นตัวเลขสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค.ปี 2549 เป็นต้นมา การขาดดุลการค้าชี้ว่า การค้าอาจส่งผลลบมากกว่า 1% กับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ในไตรมาส 3
การค้าคิดเป็น 1.2% ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่สูง 4.2% ต่อปีในไตรมาส 2 โดยส่วนใหญ่เป็นผลสะท้อนมาจากการที่ผู้ส่งออกเร่งส่งออกถั่วเหลืองไปจีนก่อนที่จีนจะมีมาตรการภาษีโต้ตอบสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนก.ค.
การส่งออกสินค้าและบริการลดลง 0.8% เป็น 209,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนส.ค. ยอดส่งออกถั่วเหลืองลดลง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการจัดส่งน้ำมันดิบลดลง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าและบริการของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 0.6% สูงเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 262,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนส.ค.โดยตัวเลขได้แรงหนุนจากการนำเข้ารถยนต์ ( ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ) และสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในส่วนปิโตรเลียมด้วย.