อเมริกัน – ญี่ปุ่นชนะรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์
ศ.เจมส์ แอลลิสัน ชาวอเมริกัน และ ศ.ทาสึกุ ฮอนโจ ชาวญี่ปุ่นชนะรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ปี 2561 จากความสำเร็จในการค้นพบวิธีการรักษามะเร็ง
โดยคณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุว่า การวิจัยของทั้งสองคนซึ่งใช้ประโยชน์จากระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายเพื่อโจมตีเซลล์มะเร็ง ถือเป็นความสำเร็จในการต่อสู้กับมะเร็ง โดยวิธีการที่เรียกว่า Immune Checkpoint Blockade Theory “ ถือเป็นการปฏิวัติวิธีการรักษามะเร็งและเปลี่ยนวิธีที่ทำให้เรามองว่า เราสามารถจัดการมะเร็งได้ ”
ศ.แอลลิสันระบุเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ว่า บุตรชายเขาโทรมาหาเขาเวลา 05.30 น. และเป็นคนแรกที่บอกว่าเขาชนะรางวัลโนเบล ต่อมาในช่วงเช้า คณะกรรมการรางวัลโนเบลโทรมาแจ้งข่าวดีให้เขารับทราบ “ ผมยังรู้สึกช็อคอยู่เลย และยังเหมือนไม่ค่อยมีสติเท่าไหร่” แอลลิสันกล่าว “ คณะกรรมการบอกผมว่านี่เป็นรางวัลแรกที่มอบให้กับทฤษฎีการรักษามะเร็ง ผมรู้สึกอยากตะโกนบอกคนไข้ทั้งหมดที่กำลังทุกข์ทรมานกับมะเร็งให้รู้ว่า เราทำได้แล้วตอนนี้ ”
ศ.แอลลิสัน ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานและผอ.ฝ่ายระบบภูมิคุ้มกันวิทยาที่ศูนย์มะเร็งของมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอ็มดี แอนเดอร์สัน ได้ศึกษาและค้นพบวิธีการจัดการกับโปรตีนซึ่งทำหน้าที่เป็นเบรกในระบบภูมิคุ้มกัน ให้สามารถเข้าสังหารเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแตกต่างจากวิธีการรักษาเดิมที่มุ่งโจมตีเซลล์มะเร็งโดยตรง
“ ผมเป็นนักวิทยาศาสตร์ ผมไม่ได้ศึกษาเพื่อพยายามจะรักษามะเร็งหรอก ผมศึกษาเพราะอยากรู้ว่า T cells ทำงานอย่างไร ” เขากล่าว
T-cells ซึ่งเป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันและช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายติดเชื้อ และอาจช่วยต่อสู้มะเร็ง อ้างอิงจากสถาบันมะเร็งแห่งสหรัฐฯ
ขณะที่ ศ.ทาสึกุ ฮอนโจ ซึ่งทำงานที่มหาวิทยาลัยเกียวโตในญี่ปุ่นมานานถึง 34 ปี ได้ค้นพบโปรตีนในเซลล์ภูมิคุ้มกัน และอธิบายว่ามันทำหน้าที่เป็นเบรกแต่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน โดยทฤษฎีจากพื้นฐานวิธีการของเขาได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการต่อสู้มะเร็งเช่นกัน
ในปี 2538 ศ.แอลลิสันได้ค้นพบโปรตีน CTLA-4 ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวรับบนเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T-cells ซึ่งโมเลกุลของตัวรับชนิดนี้จะยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ศ.ฮอนโจ ได้ค้นพบโปรตีน PD-1 ซึ่งทำหน้าที่เป็นเบรกของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเช่นกัน แต่โปรตีนชนิดนี้ทำงานด้วยกลไกที่แตกต่างกัน
มีการคิดค้นแอนตีบอดีที่ต่อต้านการทำงานของโปรตีน 2 ชนิดนี้ และได้นำมาทดลองรักษากับผู้ป่วยมะเร็งบางชนิด ปรากฎว่ามีประสิทธิภาพและได้ผลดีกับมะเร็งผิวหนังชนิดร้ายแรงและมะเร็งปอดในระยะลุกลาม
“ มะเร็งสังหารผู้คนหลายล้านคนทุกปี และเป็นหนึ่งในความท้าทายต่อสุขภาพของมนุษยชาติที่ร้ายแรงที่สุด ” คณะกรรมการรางวัลโนเบลโพสต์บนทวิตเตอร์
ในเดือนธ.ค.นี้ ศ.แอลลิสัน และศ.ฮอนโจ ในวัย 70 กว่าปีทั้งคู่ จะเดินทางไปรับรางวัลอันทรงเกียรติที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน และแบ่งเงินรางวัลจำนวน 1.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 32.8 ล้านร่วมกัน.