แคนาดาถอดซูจีจากพลเมืองกิตติมศักดิ์
รัฐสภาแคนาดาลงมติลับเมื่อวันที่ 27 ก.ย. เพื่อถอดนางอองซาน ซูจี ผู้นำเมียนมาออกจากการเป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของแคนาดา โดยเหตุผลสำคัญคือวิกฤตโรฮิงญา
โดยในปี 2550 แคนาดาได้มอบสิทธิการเป็นพลเมืองผู้ทรงเกียรติให้กับนางซูจี เพื่อยกย่องเธอจากการยืนหยัดยึดมั่นในประชาธิปไตยและเธอยังได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอีกด้วย
แต่ชื่อเสียงในระดับนานาชาติของเธอต้องมัวหมองลงจากการที่เธอปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือด้วยการหยุดไม่ให้กองทัพเมียนเข้าปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในรัฐยะไข่ได้ โดยในสัปดาห์ก่อน ทางแคนาดาประกาศว่าการปราบปรามชาวโรฮิงญาของทหารเมียนมาเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
“ในปี 2550 ทางสภาได้มอบรางวัลให้แก่นางซูจีเป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ของแคนาดา วันนี้ ทางสภาได้มีการลงมติอย่างไม่เปิดเผยว่า ให้มีการถอดเธอออกจากสถานภาพนี้” Adam Austen โฆษกของรมว.กระทรวงต่างประเทศ Chrystia Freeland ระบุ
ทหารเมียนมาเข้าปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาอย่างโหดร้ายในเดือนส.ค.ปีก่อน ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาต้องอพยพลี้ภัยไปจากเมียนมากว่า 700,000 คน โดยทั้งหมดหนีข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของค่ายผู้ลี้ภัยจำนวนมาก และพวกเขาต่างเกรงกลัวเกินกว่าที่จะเดินทางกลับเมียนมา แม้จะมีข้อตกลงเรื่องการส่งชาวโรฮิงญาคืนกลับคืนระหว่างบังคลาเทศกับเมียนแล้วก็ตาม
ที่ผ่านมามีรายงานว่าทหารเมียนมากระทำการทารุณกับชาวโรฮิงญา ทั้งสังหาร ข่มขืนและวางเพลิงเผาบ้านเรือน
ขณะที่ทางกองทัพเมียนมาปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด และยืนกรานว่าไม่ได้เป็นปฏิบัติการขุดรากถอนโคนชาวโรฮิงญาแต่อย่างใด
แต่หลังจากมีการสืบสวนหาความจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ สหประชาชาติประกาศเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ว่า ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อเตรียมพร้อมในการดำเนินการกับผู้นำกองทัพเมียนมา และนายพลระดับผู้บัญชาการอีก 5 นายในข้อหาก่ออาชญากรรมกับมนุษยชาติ
รัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งของนางซูจี ยังคงต้องรักษาสมดุลอำนาจกับบรรดานายพลจากกองทัพ ซึ่งปัจจุบันในสภาพวกเขามีสิทธิโหวตคว่ำการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญอย่างมีประสิทธิภาพได้
Austen ชี้ว่า ประเด็นที่นางซูจียืนกรานปฏิเสธที่จะประณามการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีการถอดเธอออกจากการเป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์และไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ
“เราจะยังคงสนับสนุนชาวโรฮิงญาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดหาความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม มีการคว่ำบาตรกองทัพเมียนมา และเรียกร้องให้มีผู้รับผิดชอบในกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากองค์กรนานาชาติ” เขาเสริม
ทั้งนี้ แคนาดามอบตำแหน่งพลเมืองกิตติมศักดิ์ของแคนาดาให้กับอีก 5 คนรวมทั้งองค์ดาไล ลามะ เด็กสาวผู้ชูประเด็นการศึกษาของเด็กผู้หญิงอย่างมาลาลา ยูซาฟไซ และเนลสัน แมนเดลา.