ม.จีนนำเอเชียในอันดับม.โลก
มหาวิทยาลัยของจีนเป็นผู้นำในเอเชียจากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก โดย 10 อันดับแรกยังคงเป็นมหาวิทยาลัยจากสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ เป็นส่วนใหญ่
โดยมหาวิทยาลัย Oxford และ Cambridge จากสหราชอาณาจักรยังคงเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับจากอันดับมหาวิทยาลัยโลกที่จัดโดย Times Higher Education ขณะที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯครองอันดับเป็นส่วนใหญ่ใน 100 อันดับแรก
Stanford ถือเป็นมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ที่อยู่ในอันดับสูงสุดคืออันดับ 3 ตามมาด้วย Massachusetts Institute of Technology (MIT) ในอันดับ 4 และ California Institute of Technology อยู่ในอันดับ 5
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นมีมหาวิทยาลัยติดอันดับแซงหน้าสหราชอาณาจักรด้วยจำนวนมหาวิทยาลัยถึง 103 แห่ง เนื่องจากสหราชอาณาจักรมีสัญญาณของความซบเซาเกิดขึ้น
เป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยของจีนติดอันดับที่สูงขนาดนี้จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 1,250 แห่งทั่วโลก
โดยมหาวิทยาลัยชิงหัวในกรุงปักกิ่งสามารถแซงหน้ามหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ขึ้นมานำสูงสุดในเอเชีย โดยขยับขึ้นมาถึง 8 อันดับ ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 22 ขณะที่มหาวิทยาลัยสิงคโปร์อยู่ที่ 23 อ้างอิงจากเว็บไซต์ของ Times Higher Education (THE)
“ การขยับขึ้นมาของม.ชิงหัวเกิดจากแรงขับเคลื่อนสำคัญคือ บรรยากาศการเรียนการสอน โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของรายได้สถาบัน และจำนวนของอาจารย์ในระดับปริญญาเอกที่ได้รับรางวัล ” THE ระบุ
Simon Marginson ศาสตราจารย์ที่ Oxford ระบุว่า เขาไม่แปลกใจเลยกับความก้าวหน้าของม.ชิงหัวของจีน
“ ชิงหัวสามารถขึ้นเป็นม.อันดับ 1 ในโลก จากการทำวิจัยด้านคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นสาขารวมกันที่จีนทำได้ดีกว่าสหรัฐฯ และยุโรป ตอนนี้ชิงหัวใกล้จะขึ้นเป็นสุดยอดแล้ว และพัฒนาขึ้นมาเร็วมากในด้านวิทยาศาสตร์กายภาพและวิศวกรรม ” เขากล่าว
ทั้งนี้ อีกแห่งของจีนที่เป็นดาวเด่นคือมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง ที่ตั้งอยู่ทางใต้ของจีน ซึงมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดขึ้นมาถึง 76 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 101 โดยรวมแล้ว จีนมี 72 มหาวิทยาลัยที่ติดอันดับครั้งนี้ เพิ่มขึ้นจากเดิม 63 แห่งในปีที่แล้ว
โดย 5 มาตรวัดสำคัญในการจัดอันดับคือ การสอน รายได้จากการวิจัย ปริมาณการวิจัย รายได้อุตสาหกรรม สัดส่วนของนักศึกษาต่างชาติ และสัดส่วนของบุคลากรต่างชาติ
นอกจากนี้ THE ระบุว่า มหาวิทยาลัยฮ่องกงยังคงเป็นเรือธงในภูมิภาค โดยขยับขึ้นมา 4 อันดับมาอยู่ที่ 36
ขณะที่ม.อื่นๆในเอเชีย สถาบันของเกาหลีใต้ทำได้ดีที่สุด โดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล รั้งอันดับ 63 ในครั้งนี้ จากเดิมคืออันดับที่ 74
ขณะที่อินเดียทำได้ไม่ดีนัก ไม่ติดอยู่ใน 200 อันดับแรก โดย Indian Institute of Science ติดอยู่ในกลุ่มอันดับที่ 251 – 300 แต่ในภาพรวมแล้ว ถือว่าอินเดียพัฒนาขึ้น โดยมีม.ถึง 49 แห่งที่ติดอันดับ จากเดิม 42 แห่งในปีก่อน
ในยุโรป เยอรมนีทำได้ดีที่สุด มีสถาบันการศึกษาถึง 8 แห่งที่ติดใน 100 อันดับแรก โดย LMU Munich อยู่ในอันดับที่ 32
ขณะที่ฝรั่งเศสมีเพียง 2 แห่งที่ติดใน 100 อันดับแรก คือ Paris Sciences et Lettres (PSL) อยู่ที่ 41 และ Sorbonne University รั้งอันดับ 73.