คนไร้บ้านเพิ่มขึ้นในไต้หวัน
หยานชุนฟางไม่เคยคิดว่าเขาจะกลายเป็นคนไร้บ้าน เขาเป็นชายวัย 61 ปีที่เคยมีรายได้ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนจากอาชีพทาสีบ้านและออฟฟิศ แต่ในปีที่แล้ว เขาเสียงานไปหลังเขาป่วย
เขาไม่มีเงินเก็บมากพอ ไม่มีครอบครัวหรือเพื่อนที่สามารถช่วยเขาได้ เขาไม่มีเงินพอจ่ายค่าเช่า ทำให้ต่อมาเขาก็ไม่มีบ้านอยู่
เขามาเจอที่พักพิงระหว่างทางในนิวไทเปซิตี้ ซึ่งบางครั้งเขามาเป็นจิตอาสาช่วยงานทาสี
“ ผมกลัวที่สุดคือทำงานไม่ได้ ” หยานกล่าว “ เมื่อคุณทำงานไม่ได้ คุณจะไม่มีเงินประทังชีวิต ผมจึงต้องทำงาน ไม่งั้นผมจะไปเอาเงินที่ไหน ? ”
เพื่อนของเขาที่ศูนย์พักพิง ซูหยิงชี ต้องใช้ชีวิตร่อนเร่บนถนนนาน 3 เดือนหลังตกงาน เมื่อโรงงานของเขาย้ายไปที่จีน และมันไม่ใช่ชีวิตที่เขาอยากเจออีก
“ ผมนอนในสวนสาธารณะ นอนบนพื้น ผมนอนที่นั่นหลังสามทุ่ม พอถึงตีห้า ผมก็ต้องตื่น มีคนมาไล่ ” ชายวัย 58 ปีกล่าว
อ้างอิงจากกระทรวงสุขภาพและสวัสดิการ คนไร้บ้านส่วนใหญ่ในไต้หวันเป็นผู้ชายใช้แรงงานในวัยสูงกว่า 50 ปี ซึ่งสูญเสียงานเดิมเมื่อโรงงานย้าย โดยเบื้องต้นย้ายไปที่จีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัญหาลุกลามขึ้นจากความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนซึ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในหลายปีมานี้
อ้างอิงจากข้อมูลทางการของกระทรวงการคลัง กลุ่มคนที่มีรายได้เฉลี่ย 150,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งมีอยู่ 5% มีรายได้มากกว่ากลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำสุดเป็นร้อยเท่าในปี 2559 ทั้งนี้ ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นเกือบสองเท่าในรอบทศวรรษ
ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้นและค่าจ้างซบเซาในไต้หวัน ทำให้เป็นเรื่องยากขึ้นสำหรับคนที่มีรายได้เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำในไต้หวัน หลินตังฮง ผู้ช่วยผู้วิจัยของ Academia Sinica ให้ความเห็น
“ ไลน์การผลิตของไต้หวันย้ายไปจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ” เขากล่าว “ ผลก็คือคนที่อยู่ล่างสุดของสังคมต้องเสียงานไป เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้มีครอบครัวรายได้น้อยเพิ่มขึ้นมาก ”
จากข้อมูลของทางการที่เผยแพร่โดยรมว.กระทรวงสุขภาพและสวัสดิการ มีรายงานว่ามีประชาชนเกือบ 9,300 คนในไต้หวันที่เป็นคนไร้บ้านในปีที่แล้ว โดยจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากเดิมในปี 2556
แต่เจ้าหน้าที่กระทรวงคนหนึ่งแย้งว่าจำนวนคนไร้บ้านที่แท้จริงคือ 2,600 คนเท่านั้น โดยบางกรณีอาจเป็นเพียงการสงสัยว่าจะเป็นคนไร้บ้านเท่านั้น
“ นิยามของคำว่าคนไร้บ้านของเราคือ คนที่มักจะนอนบนถนนอยู่บ่อยครั้งโดยไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ” หลี่เหม่ยเฉิน ผอ.ฝ่ายช่วยเหลือทางสังคมและงานสวัสดิการระบุ “ มีคนไร้บ้านอยู่ 3 ประเภท ประเภทแรกคือคนที่ตกงาน ไม่มีงานทำ ”
“ ประเภทที่ 2 คือคนที่สูญเสียความสามารถในการทำงาน ทำให้ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน และประเภทที่ 3 เป็นกลุ่มผู้สูงอายุและคนที่โดดเดี่ยว ”
หลินจาก Academia Sinica กลัวว่า คำนิยามที่เข้มงวดของคนไร้บ้านอาจทำให้มีการประเมินความรุนแรงของปัญหาต่ำเกินไป
“ ตราบเท่าที่ครอบครัวของคนเรามีรูปแบบความเป็นอยู่บางอย่าง เช่น บ้านไร่ในไถหนาน หรือเกาสง ทางตอนใต้ของไต้หวัน เขาไม่อาจถูกจัดเป็นคนไร้บ้านได้ แม้เขาต้องนอนบนถนนในไทเปก็ตาม ”
เขายังกลัวว่าปัญหาคนไร้บ้านอาจเลวร้ายย่ำแย่ลงอีกกับจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในไต้หวันและอัตราการเกิดต่ำ
“ ด้วยค่าจ้างที่ซบเซา ทำให้หลายคนไม่สามารถมีลูกได้ อัตราการเกิดต่ำนำไปสู่สังคมผู้สูงอายุ และส่งผลให้ผู้สูงอายุถูกทอดทิ้ง ” เขากล่าว
นี่เป็นปัญหาแท้จริงที่คนอย่างหยานชุนฟางต้องเผชิญ เขาไม่มีลูกหรือครอบครัวที่จะช่วยเหลือเขา ตอนนี้สิ่งที่เขาหวังเพียงอย่างเดียวคือดูแลเรื่องสุขภาพของเขาให้ดี เพื่อให้เขากลับไปยืนด้วยตัวเองได้อีก.