ทรัมป์พุ่งเป้าเก็บภาษีญี่ปุ่นรายต่อไป
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯ ยึดมั่นนโยบายในการทำสงครามการค้าด้วยมาตรการภาษีอย่างต่อเนื่อง และญี่ปุ่นเป็นประเทศเป้าหมายต่อไปของเขา
ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อวอลล์สตรีทเจอร์นัล ทรัมป์อธิบายถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเขากับผู้นำญี่ปุ่น แตเสริมว่า“ แน่นอนว่า มันจะจบลงทันทีที่ผมบอกญี่ปุ่นว่า พวกเขาต้องจ่ายให้สหรัฐฯมากแค่ไหน”
“ ท่านประธานาธิบดีชอบที่จะต่อสู้ทางการค้า” Derek Scissors นักเศรษฐศาสตร์เอเชียที่สถาบันผู้ประกอบการอเมริกัน ซึ่งเป็นสำนักคิดนโยบายสาธารณะแนวอนุรักษ์นิยมในกรุงวอชิงตันระบุ เขาเสริมว่า หากแคนาดาและเม็กซิโกลงนามในข้อตกลงการค้า NAFTA ใหม่ สองประเทศนี้จะได้รับการยกเว้นจากการสอบสวนอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยให้ข้อมูลว่าสหภาพยุโรปได้รับการยกเว้นภาษีนี้แล้ว ดังนั้น นี่จึงทำให้ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐฯในเอเชีย เป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ
“ มีการสอบสวนของสหรัฐฯเกี่ยวกับการนำเข้ารถยนต์บนพื้นฐานของความมั่นคงของชาติ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกนิดหน่อย แต่ หากคุณไม่นับเม็กซิโก แคนาดาและสหภาพยุโรป ญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนของการสอบสวนด้านอุตสาหกรรมรถยนต์” เขากล่าวกับ CNBC “ จากการสรุปคร่าวๆ”
แม้ทรัมป์อาจอ้างถึงมาตรการอื่นๆที่เขาจะใช้กับญี่ปุ่น แต่ Scissors ระบุว่า รถยนต์น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด“ เราได้มีการสอบสวนกับรถยนต์ญี่ปุ่นและรถยนต์จากประเทศอื่นๆ แต่เรายังไม่ได้ทำอะไรในเรื่องนี้”
รัฐบาลทรัมป์ดำเนินการสอบสวนในประเด็นความมั่นคงของชาติกับการนำเข้ารถยนต์และรถกระบะในเดือนพ.ค. ภายใต้กฎหมายการค้ามาตรา 232 โดยสหรัฐฯขู่จะจัดเก็บภาษี 25% กับรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์นำเข้า ขณะที่มีการประกาศภาษีเหล็กนำเข้า 25% และ 10% สำหรับอะลูมิเนียมนำเข้าไปแล้ว
ทั้งนี้ รัฐบาลทรัมป์ยังอยู่ในระหว่างการตัดสินใจที่จะใช้มาตรการภาษี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งเพื่อปกป้องบริษัทผู้ผลิตรถยนต์อเมริกัน และลดจำนวนการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ ลง
ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าที่สหรัฐฯขาดดุลการค้ามากเป็นอันดับ 3 รองจากจีนและเม็กซิโก อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักสำมะโนประชากร โดยการขาดดุลการค้าจำนวน 54,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ในส่วนรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ถึง 3 ไตรมาสจากตัวเลขโดยรวม
การขู่จะใช้มาตรการภาษีเป็นเครื่องมือในการลดตัวเลขการขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ภายใต้แรงกดดันจากทำเนียบขาวให้ทำข้อตกลงการค้าทวิภาคี แต่ญี่ปุ่นคัดค้านแนวคิดของสหรัฐฯ และมุ่งเน้นการทำข้อตกลงการค้าแบบพหุภาคี
“ คำถามคือ ท่านประธานาธิบดีกำลังขู่เรื่องรถยนต์และประเด็นอื่นเพื่อบีบให่้มีการต่อรอง หรือจะเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งที่ขยายวงกว้างขึ้น” Scissors กล่าว “ผมคิดว่าในกรณีของญี่ปุ่น เขาต้องการข้อเสนอจากญี่ปุ่น”
ภาษีที่สูงขึ้นจะกระทบกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในเอเชียทั้งโตโยต้า และฮอนด้า ซึ่งมีสหรัฐฯเป็นตลาดสำคัญ นอกจากนี้ ภาษีอาจส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ซึ่งการส่งออกรถยนต์เป็นส่วนสำคัญของการส่งออกของประเทศ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ที่บริษัทวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสตร์ Stratfor ระบุว่า ญี่ปุ่นอาจได้รับการยกเว้นบางอย่างจากสงครามการค้าสหรัฐฯเพราะบริษัทผู้สร้างสาธารณูปโภคจำนวนมากของญี่ปุ่นตั้งอยู่ในสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ตัวแทนจากสหรัฐฯและญี่ปุ่นจะมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องก่อนหน้าการประชุมนอกรอบระหว่างทรัมป์และนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติช่วงสิ้นเดือนก.ย.นี้.