ศาลอินเดียประกาศเซ็กส์เพศเดียวกันไม่ผิดกม.
ศาลสูงสุดอินเดียได้ประกาศยกเลิกกฎหมายที่ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ยุคอาณานิคม โดยกฎหมายดังกล่าวระบุให้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นอาชญากรรม ถือเป็นการปิดฉากกฎหมายต่อต้าน LGBT ซึ่งมีอายุยาวนานกว่า 150 ปี
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ศาลได้ทำการประกาศครั้งสำคัญนี้ ณ กรุงเดลี กลุ่มประชาชนต่างส่งเสียงแสดงความยินดีและความปลื้มปิติ รวมถึงกลุ่มนักกิจกรรมผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต่างโผเข้ากอดกันด้วยความสุขใจอย่างท่วมท้น
กฎหมายมาตราที่ 377 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาที่อังกฤษได้เข้ายึดครองประเทศอินเดีย และออกกฎหมายเพื่อลงโทษการมีเพศสัมพันธ์ “ที่ขัดต่อธรรมชาติ” โดยโทษสูงสุดคือการจำคุกตลอดชีวิต
การตัดสินเพื่อยกเลิกกฎหมายดังกล่าว ถือเป็นความสำเร็จสูงสุดของนักกิจกรรมชาวอินเดีย และผู้สนับสนุนที่ต้องต่อสู้มาเป็นเวลายาวนานหลายปี
แม้ว่ากฎหมายดังกล่าวแทบจะไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มที่ แต่นักกฎหมายอ้างว่า ตลอดมากฎหมายดังกล่าวได้ทำให้เกิดวัฒนธรรมความกลัว และก่อให้เกิดการกดขี่ข่มเหงภายในชุมชนชาว LGBT มาตลอดอย่างต่อเนื่อง
Danish Sheikh ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายที่โรงเรียนกฎหมาย Jindal Global บอกกับทางซีเอ็นเอ็นว่า การเปลี่ยนแปลงกฎหมายในครั้งนี้ จะช่วย “สร้างพื้นที่แห่งเสรีภาพ ที่คุณจะสามารถเริ่มคาดหวังถึงความยุติธรรมได้”
การเปลี่ยนแปลงกฎหมายเมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นการเหตุการณ์ครั้งสำคัญที่สุดที่กินเวลายาวนาน และมีการต่อสู้ทางกฎหมายอยู่บ่อยครั้งในประเทศอินเดียที่รักร่วมเพศยังคงเป็นเรื่องต้องห้าม
สำหรับศาสนาฮินดู ซึ่งเป็นศาสนาที่คนส่วนใหญ่ในประเทศอินเดียนับถือ ยังคงยึดถือขนบธรรมเนียมเดิม ซึ่งให้ความยืดหยุ่น และไม่กำหนดกฏเกณฑ์ใด ๆ เกี่ยวกับมุมมองทางด้านเพศ อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ กลุ่มสายแข็งได้รับวิถีอนุรักษ์นิยมมาใช้มากขึ้น
อ้างอิงจากรายงาน “รัฐที่มีกฎหมายสนับสนุนการเลือกปฏิบัติต่อรักร่วมเพศ” ของ Lucas Mendos นักเขียนร่วกจากสมาคม LGBTI สากล เมื่อปี 2560 ระบุว่า จากอดีตชาติอาณานิคมประมาณ 48 ประเทศ ของอังกฤษ ได้มีการกำหนดกฎหมายให้รักร่วมเพศเป็นอาชญากรรม โดยกว่า 30 ประเทศ ยังคงมีกฎหมายที่มีพื้นฐานจากกฎหมายต่อต้านกลุ่ม LGBT นับตั้งแต่การยึดครองในอดีต
จากตัวเลขดังกล่าว ระบุให้ทราบว่ากฎหมายดั้งเดิมจากอังกฤษยังคงบังคับใช้อยู่ในอินเดียเช่นเดิม โดยมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากหรือไม่น้อย นับตั้งแต่การยึดครองอาณานิคมในช่วงปี พ.ศ. 2403-2412
ก้าวต่อไปของกลุ่มนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรม คือการเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบันนี้ ยังคงเป็นแค่ทำให้เรื่องดังกล่าว “ไม่ผิดกฎหมาย” เท่านั้น