การค้าโลกไม่กระทบผู้บริโภคเอเชีย
การใช้จ่ายของผู้บริโภคในเอเชีย ด้วยแรงหนุนจากจีน เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค
แต่ด้วยบรรยากาศการค้าทั่วโลกในปัจจุบันที่เปราะบางอ่อนไหว และความขัดแย้งด้านมาตรการภาษีของสหรัฐฯ กับจีนที่เพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดคำถามว่าโมเมนตัมที่ดียังดำเนินต่อไปหรือไม่ ซึ่งคำตอบคือ มันจะยังดีต่อไป แม้จะมีอุปสรรคมาขวางไว้ก็ตาม อ้างอิงจากความเห็นของนักกำหนดกลยุทธ์ นักลงทุนและนักวิเคราะห์
แนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีสัดส่วนคิดเป็น 60% ของจำนวนประชากรทั่วโลกยังคงสดใส อ้างอิงจากรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 ก.ย.โดย Daiwa Capital Markeets ในฮ่องกง
โดยหลายปัจจัยที่หนุนให้เกิดมุมมองในแง่บวกคือ จำนวนประชากรหนุ่มสาว การขยายตัวของชนชั้นกลาง และความร่ำรวยที่เพิ่มขึ้น
“ การบริโภคถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในเอเชียในอีก 2 – 3 ทศวรรษหน้า เนื่องจากจำนวนประชากรที่ขยายตัวและรายได้ส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น ” Paul M.Kitney หัวหน้าผู้จัดทำรายงานซึ่งเป็นผอ.ฝ่ายกลยุทธ์สำหรับการทำวิจัยในภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกของ Daiwa ระบุในรายงาน
“ ในมุมมองของเรา ภาวะซบเซาที่เกิดจากมาตรการกีดกันทางการค้าและความตึงเครียดทั่วโลกในระยะใกล้นี้ ดูจะไม่ส่งผลกับการบริโภคในเอเชีย ” รายงานระบุ
Karin Hirn หุ้นส่วนผู้จัดการสินทรัพย์ที่ East Capotal ในฮ่องกงยังระบุว่า เอเชียยังคงเป็นที่น่าดึงดูดใจในการลงทุนจากหลายปัจจัยบวก เช่น จำนวนประชากร และอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้น Hirn ยังเสริมว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจำว่าแม้มาตรการภาษีสามารถส่งผลกับราคาผู้บริโภคและเงินเฟ้อ แต่การค้าก็ยังต้องดำเนินต่อไปและการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเอเชียดูจะสามารถหลีกเลี่ยงอุปสรรคขัดขวางที่สำคัญได้
โดยทั่วไปแล้ว เอเชียมีภูมิคุ้มกันกับความเจ็บปวดที่เกิดจากการสงครามภาษีที่ดำเนินอยู่ เธอกล่าวกับสื่อ CNBC เมื่อวันที่ 5 ก.ย.
Daiwa ชี้ว่าความเสี่ยงจากการค้าอาจส่งผลในแง่ลบบางอย่าง โดยเฉพาะหากซัพพลายเชนทั่วโลก ซึ่งเอเชียมีบทบาทสำคัญ ถูกกระทบอย่างชัดเจน “ นี่อาจกระทบต่อการเติบโตของรายได้ส่วนบุคคล และสั่นคลอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค นำไปสู่การจับจ่ายใช้สอยส่วนตัวที่น้อยลง ” รายงานระบุ
การใช้จ่ายของผู้บริโภคในเอเชียเป็นแรงหนุนสำคัญในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ช่วยขับเคลื่อนสภาพคล่องในทศวรรษหลังเกิดวิกฤตการเงิน บรรดาธนาคารกลาง ที่นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ มีกำหนดปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก หลังครบรอบ 10 ปีของการทรุดตัวของธนาคารเพื่อการลงทุน Lehman Brothers ในเดือนนี้
“ อย่างไรก็ตาม หากสภาพคล่องของทั่วโลกมีความตึงเครียดกว่าที่คาดการณ์ เศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มที่เงินทุนจะไหลออก การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัว และตัวเลขเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ” รายงานระบุโดยชี้ว่าครัวเรือนอาจตัดลดค่าใช้จ่ายลง ซึ่งจะเป็นปัญหาสำหรับเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และประเทศไทย ที่ครัวเรือนมีหนี้สูงจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นบีบให้ต้องรัดเข็มขัด รายงานระบุ
แต่ Daiwa และสถาบันอื่นๆ ย้ำชัดว่า รัฐบาลในเอเชียพร้อมที่จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะชะงักงัน
“ การอ่อนแรงลงของการบริโภคในประเทศจีน อาจทำให้รัฐบาลเริ่มนโยบายสนับสนุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ” UBS ระบุในรายงานเมื่อวันที่ 4 ก.ย.โดยอ้างถึงทางการจีน.