กูเกิลซื้อข้อมูลจากมาสเตอร์การ์ด
มีรายงานว่ากูเกิล บริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ได้ซื้อข้อมูลบัตรเครดิตจากมาสเตอร์การ์ดในสหรัฐฯเพื่อช่วยให้บริษัทสามารถติดตามผู้ใช้งานในการใช้จ่ายซื้อสินค้าในร้าน
โดยทั้งสองบริษัทไม่ได้ทำข้อตกลงทางธุรกิจอย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่แหล่งข่าวที่ค้นพบเรื่องนี้คือสื่อบลูมเบิร์ก
ทางมาสเตอร์การ์ดปฏิเสธข้อบ่งชี้ที่ว่า ข้อมูลเหล่านั้นอาจถูกนำไปใช้เพื่อระบุตัวตนในการซื้อได้อย่างถูกต้อง
Open Rights Group กล่าวกับสื่อ BBC ว่า ดีลการซื้อครั้งนี้ซึ่งเป็นความลับก่อให้เกิดประเด็นเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัว
“ นี่ก่อให้เกิดความกังวลในประเด็นการใช้งานข้อมูลที่เป็นส่วนตัว ” Myles Jackman ผอ.ฝ่ายกฎหมายระบุ
“ มาสเตอร์การ์ดจะชดเชยให้ลูกค้าอย่างไร สำหรับข้อมูลที่ให้กับทางกูเกิลเพื่อแลกกับผลประโยชน์ทางการเงิน ”
กูเกิลระบุว่า ข้อมูลทั้งหมดไม่มีการระบุชื่อ และผู้ใช้งานสามารถหลีกเลี่ยงโฆษณาด้วยการกดปิดการควบคุมจากเว็บและแอปพลิเคชั่น
โดยกูเกิลกำลังทดสอบบริการสำหรับผู้ซื้อโฆษณาในสหรัฐฯที่แสดงให้เห็นว่า โฆษณาดิจิทัลมีอิทธิพลต่อการใช้จ่ายในร้าน
บนเว็บไซต์ของกูเกิล บริษัทอ้างว่า นักโฆษณาที่จะใช้บริการการจัดการยอดขายในร้านสามารถเห็นเมื่อมีการคลิกโฆษณา หรือผลการรับชมวีดีโอในการซื้อของในร้านภายใน 30 วัน
กูเกิลระบุว่าบริการนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการทดสอบในสหรัฐฯและมีเพื่อผู้ซื้อโฆษณา โดยกูเกิลเริ่มออกเครื่องมือโฆษณานี้ในปี 2560
“ ก่อนที่เราจะออกผลิตภัณฑ์ทดสอบเมื่อปีที่แล้ว เราสร้างเทคโนโลยีการเข้ารหัสแบบอำพรางสองฝ่ายที่ช่วยป้องกันทั้งกูเกิลและหุ้นส่วนของเราจากการเห็นข้อมูลที่ระบุตัวตนเป็นการส่วนตัวของผู้ใช้งาน ” บริษัทระบุในแถลงการณ์
“ ที่จริงแล้ว เราไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวใดๆ จากบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของหุ้นส่วนของเรา และเราไม่สามารถแชร์ข้อมูลส่วนตัวใดๆ กับหุ้นส่วนของเราด้วย ”
โดยมาสเตอร์การ์ดกล่าวกับสื่อ BBC ว่า ได้เสนอบริการประเมินสื่อให้กับผู้ค้าปลีก ซึ่งในนั้นผู้ประกอบการจะสามารถจัดหารายละเอียดแคมเปญโฆษณาให้
“ เราแค่จัดหาให้ผู้ประกอบการและให้บริการที่ออกแบบเพื่อพวกเขาบนพื้นฐานของข้อมูลที่ครบถ้วนและไม่เปิดเผยชื่อ เช่น อัตราผู้ซื้อของผู้ประกอบการและยอดขาย ” โฆษกมาสเตอร์การ์ดระบุ
“ เราไม่ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่จะสามารถติดตาม ส่งโฆษณาไปให้ หรือแม้แต่วัดประสิทธิภาพของโฆษณา กับผู้บริโภคเป็นรายบุคคล ”