หนังฮิตชี้ความไม่เท่าเทียมในเอเชีย
ภาพยนตร์ฮิตอย่าง Crazy Rich Asians ที่ทำรายได้สูงในเดือนนี้ กลายเป็นประเด็นที่ทำให้หลายคนให้ความสนใจกับจำนวนมหาเศรษฐีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคเอเชีย
ในสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสถานที่หลักในภาพยนตร์ มีห้างสรรพสินค้ามากมาย ที่คุณจะเห็นร้านขายสินค้าแบรนด์หรูหราราคาแพงเต็มไปด้วยลูกค้าที่ถือถุงจาก Prada , Gucci และ Louis Vuitton
อ้างอิงจากข้อมูลของ Oxfam จำนวนมหาเศรษฐีในเอเชียแปซิฟิกแซงหน้าภูมิภาคอเมริกาเหนือและยุโรป ซึ่งนอกจากจะมีเศรษฐีร้อยล้านและเศรษฐีพันล้านมากที่สุดในโลก ก็มีจำนวนคนจนมากถึง 2 ใน 3 ของโลกเช่นกัน
“ ความไม่เท่าเทียมกันทางฐานะสูงถึงระดับที่น่าเป็นห่วงในหลายประเทศในเอเชีย ” Mustafa Talpur ซึ่งดูแลเรื่องแคมเปญความไม่เท่าเทียมกันในเอชียของ Oxfam ให้ความเห็น
อ้างอิงจากข้อมูลของนิตยสารฟอร์บส์ สหรัฐฯ ยังคงมีจำนวนมหาเศรษฐีมากที่สุดด้วยจำนวน 585 คน ขณะที่จีนตามหลังมาด้วยจำนวนมหาเศรษฐี 373 คน แต่หากนับรวมทั้งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จำนวนมหาเศรษฐีสูงแซงสหรัฐฯ ด้วยจำนวน 600 คน อ้างอิงจากข้อมูลการวิเคราะห์จาก Credit Suisse Global Wealth Databook ปี 2560
นอกจากนี้ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังมีจำนวนบุคคลที่มีรายได้สูงมากที่สุดในโลก หรือบุคคลที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยภูมิภาคนี้มีจำนวนบุคคลที่มีรายได้สูงมากถึง 34.1% เมื่อเทียบกับ 31.3% ในอเมริกาเหนือ อ้างอิงจากรายงานของ Capgemini ในปี 2561 นี้
เอเชียแปซิฟิกยังมีทรัพย์สินคิดเป็น 30.8% ของทรัพย์สินโดยรวมทั่วโลก เมื่อเทียบกับ 28.2% ของอเมริกาเหนือ
หม่าหัวเถิง หรือที่รู้จักกันในชื่อ โพนี หม่า เป็นมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในเอเชีย และอยู่ในอันดับ 17 ของโลก อ้างอิงจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์บสในปี 2561 เขาเป็นประธานกรรมการบริหารบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ Tencent Holdings ซึ่งเป็นเจ้าของ WeChat แอปพลิเคชั่นที่ได้รับความนิยมมหาศาลในจีน เขามีทรัพย์สินสุทธิ 45,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
และใน 20 อันดับแรกของบรรดามหาเศรษฐีของฟอร์บสยังมีแจ็ค หม่า ประธานยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีนอย่างอาลีบาบาติดอันดับอยู่ด้วย โดยอาลีบาบาเป็นหนึ่งประเทศที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก และมูลค่าหุ้นของบริษัทพุ่งทะยานสูงขึ้นเกือบสองเท่าในปีที่แล้ว โดยแจ็ค หม่ามีทรัพย์สินสุทธิ 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ ใน 30 อันดับแรกยังมีลีกาชิง มหาเศรษฐีของฮ่องกง ที่มีทรัพย์สินมูลค่า 34,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหวังเจียนหลินของจีนมูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมอยู่ด้วย
ในปีที่แล้ว 79% ของทรัพย์สินที่สร้างขึ้นมาในจีนเป็นของกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุดซึ่งคิดเป็น 1% ของจำนวนประชากร ขณะที่ในอินเดีย ทรัพย์สิน 73% ในประเทศเป็นของมหาเศรษฐีที่มีจำนวน 1% ของจำนวนประชากรเช่นกัน อ้างอิงจากนักวิเคราะห์ของ Oxfam
ขณะที่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมกันสูงมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 96% ของทรัพย์สินในประเทศเป็นของมหาเศรษฐีที่มี 1% ของจำนวนประชากร.