ค่าเงินทรุดกดดันประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

ตลาดประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ถูกเขย่าอีกครั้ง เนื่องจากค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินา เงินลีราของตุรกี และเงินรูเปียของอินโดนีเซียดิ่งลงชั่วข้ามคืน ส่งผลให้เกิดมุมมองด้านลบกับค่าเงินสกุลอื่นของเอเชีย
โดยเงินเปโซของอาร์เจนตินาดิ่งฮวบเกือบ 12% หลังเกิดวิกฤตในประเทศ ที่ทำให้ธนาคารกลางต้องประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยเป็น 60% เพื่อรักษาค่าเงิน ขณะที่เงินลีราของตุรกียังคงร่วงลงถึง 2.94% นับเป็นการทรุดตัวต่อเนื่องกันเป็นวันที่ 4
ขณะที่ในเอเชีย เงินรูปีของอินเดียดิ่งร่วงลงเป็นประวัติการณ์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อวันที่ 31 ส.ค. โดยลดลงไปมากกว่า 11% ตั้งแต่ต้นปี 2561 และเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียลดลงต่ำที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี
“ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังคงถูกกดดันจากวิกฤตค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินาและเงินลีราของตุรกี” นักวิเคราะห์ที่ DBS ระบุในเอกสารเมื่อเช้าวันที่ 31ส.ค. โดยเงินเปโซลดลงมากกว่า 45% ต่อดอลลาร์สหรัฐฯในปีนี้
“ดอกเบี้ยของอาร์เจนตินาพุ่งทะยานไปถึง 60% เพื่อรับมือกับเงินเฟ้อ แต่กลับจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงยิ่งขึ้น ผนวกกับการขาดดุลงบประมาณและดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 5% ของจีดีพีด้วย ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้รัฐบาลในการชำระหนี้” นักวิเคราะห์ให้ความเห็น
ดัชนี MSCI ซึ่งเป็นดัชนีค่าเงินในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ลดลง 2.1% ตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. และร่วงลงมากกว่า 5.1% ตั้งแต่ต้นปีนี้
โดยผู้เชี่ยวชาญระบุว่า วิกฤตค่าเงินอาจส่งผลกระทบกับค่าเงินในเอเชียได้ แต่โดยรวม จะไม่มีผลอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่น
แต่สกุลเงินที่อ่อนค่าลงมากที่สุดในเอเชีย คือเงินรูปีของอินเดีย เงินรูเปียในอินโดนีเซีย และเงินเปโซของฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มที่จะถูกกดดัน
นักวิเคราะห์ที่ DBS ชี้ว่า ขณะที่ไม่ได้รับผลกระทบแรง แต่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กำลังมีภาวะถดถอยจากวิกฤตค่าเงินเปโซและเงินลีรา
พวกเขายังเสริมว่า การอ่อนค่าลงของเงินรูปี เงินรูเปีย และเงินเปโซของฟิลิปปินส์ยังถือว่าอยู่ในสถานะปานกลางเมื่อเทียบกับการทรุดตัวของเงินเปโซของอาร์เจนตินา และเงินลีราของตุรกีในปีนี้
“3 สกุลเงินนี้ต้องดิ้นรนกับค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นตั้งแต่ต้นปีจากการขาดดุลงบประมาณและดุลบัญชีเดินสะพัด จากความขัดแย้งทางการค้าที่ลุกลามกลายเป็นสงครามการค้า ทำให้ภูมิภาคมีความตื่นตัวว่าจะมีเงินทุนไหลออกที่อาจนำไปสู่การไร้เสถียรภาพทางการเงิน โดยเฉพาะในประเทศที่มีระดับหนี้ต่างประเทศสูง” นักวิเคราะห์เพิ่มเติมในเอกสาร
ไอรีน เฉิง นักกลยุทธ์อาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียของธนาคาร ANZ ระบุว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะก่อให้เกิดความกังวลมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างหนักกับสกุลเงินประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
น้ำมันที่ราคาแพงขึ้นเพิ่มภาระในการนำเข้าสำหรับหลายประเทศซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน นอกจากนี้ยังนำไปสู่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่มากขึ้น
โดยดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นมาตรวัดสภาพคล่องของสินค้า บริการและการลงทุนที่ไหลเข้าและไหลออกจากประเทศ
นอกจากนี้ กำแพงภาษีจะเพิ่มแแรงกดดันกับค่าเงินหยวนและค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค อ้างอิงจาก Carnell
“จากการประกาศของโดนัลด์ ทรัมป์ว่าเขากำลังจะมีมาตรการภาษีรอบใหม่เพิ่มเติมกับสินค้านำเข้าจากจีนในสัปดาห์หน้า ทำให้ธนาคารกลางของจีนดูจะตั้งรับด้วยการลดค่าเงินหยวนลง ประเด็นนี้ส่งผลกับการอ่อนค่าลงของค่าเงินในภูมิภาคในวันนี้มากกว่า วิกฤตที่กำลังเกิดในอาร์เจนตินาและตุรกี”.