แบรนด์สหรัฐฯ กังวลหากจีนโต้กลับ
ผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่สหรัฐฯไม่เห็นด้วยกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่มั่นใจว่า สหรัฐฯจะชนะสงครามการค้ากับจีนได้ง่ายๆ เพราะเคยเห็นตัวอย่างจากเมื่อปีที่แล้วที่จีนบอยคอตเกาหลีใต้อย่างหนัก จนบางแบรนด์ต้องถอนธุรกิจออกจากจีน
สำหรับไนกี้ หากถูกจีนบอยคอตอย่างจริงตัง จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับแบรนด์สินค้ากีฬาของสหรัฐฯ ที่ใหญ่ที่สุดในโลกรายนี้ เพราะรายได้ในจีนพุ่งขึ้นถึง 21% เป็น 5,130 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปีที่ผ่านมา ทำให้ยอดขายโดยรวมของไนกี้เติบโตขึ้นถึง 14% และจีนยังเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่ของแบรนด์อีกด้วย โดยสินค้า 1 ใน 5 ของไนกี้ผลิตในจีน
ขณะที่แบรนด์กาแฟยักษ์ใหญ่อย่างสตาร์บัคส์ จีนถือเป็นตลาดสำคัญเช่นกัน โดยยอดขายเติบโตขึ้นถึง 7% ในปีที่แล้ว ตามแผนเดิม สตาร์บัคส์จะขยายสาขาร้านเพิ่มอีก 600 ร้านต่อปีจนครบ 6,000 ร้านภายในปี 2565 แต่เริ่มมีสัญญาณของความอ่อนแรงลงให้เห็นบ้างแล้ว เนื่องจากยอดขายลดลง 2% ในไตรมาสล่าสุด
สำหรับแมคโดนัลด์ เชนร้านอาหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบธุรกิจในจีนมานานเกือบ 3 ทศวรรษและตอนนี้มีร้านประมาณ 2,600 แห่ง แต่บริษัทเริ่มลดขนาดของธุรกิจในจีนเมื่อปีที่ผ่านมา โดยขายกิจการในจีนให้กลุ่มนักลงทุนที่รัฐบาลให้การสนับสนุนไปในราคา 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่แมคโดนัลด์ยังคงถือหุ้นอยู่ 20% ซึ่งหมายความว่า จีนยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญของบริษัทอยู่ แต่ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณที่ชะลอตัว เนื่องจากจำนวนลูกค้าลดลงในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
แบรนด์เครื่องดื่มโคคา-โคลา ขณะที่จีนเป็นหนึ่งในตลาดเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุด แต่บริษัทกลับลดขนาดธุรกิจลงโดยยุบส่วนการบรรจุขวดไป บริษัทยังมองว่าจีนเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตมากที่สุด โดยเครื่องดื่มแบรนด์สไปรท์ของบริษัทขายดีที่สุดในจีน
แมทเทล บริษัทผู้ผลิตของเล่นมองว่าจีนจะช่วยกระตุ้นยอดขายได้ จึงร่วมเป็นหุ้นส่วนกับยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของจีนอย่างอาลีบาบาในปีที่แล้ว นอกจากนี้ ยังบรรลุข้อตกลงในการเปิดศูนย์การเรียนรู้ในประเทศกับหุ้นส่วนท้องถิ่นเพื่อเป็นการยกระดับแบรนด์ โดยในปีที่แล้ว บริษัทระบุว่าธุรกิจในจีนจะมีการเติบโตเป็น 4 เท่าภายในปี 2563
สำหรับ KFC มี Yum China Holdings เป็นผู้ดำเนินกิจการ โดยมีการขยายสาขามากถึง 8,200 สาขาในจีน แรงกดดันใดๆจากรัฐบาลจีนจะยิ่งเพิ่มความยุ่งยากให้บริษัท โดยทั้งพิซซ่าฮัท และ KFC มองเห็นยอดขายที่เริ่มตกลง เนื่องจากลูกค้าคนรุ่นใหม่หันไปเลือกเชนร้านอาหารในประเทศและมีทางเลือกด้านอาหารสุขภาพมากขึ้น โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วย KKR & Co, Hillhouse Capital และ Chinese sovereign fund China Investment Corp.ระบุว่า พร้อมจะเป็นผู้เทคโอเวอร์กิจการของ Yum China
ตรงกันข้ามกับเบอร์เกอร์คิง ที่มีแผนการใหญ่ในจีน โดยซีอีโอ Daniel Schwartz ระบุว่า จีนเป็นเป้าหมายสำคัญในแผนขยายธุรกิจของบริษัท โดยบริษัทยังได้นำแบรนด์ Tim Horton มาทำตลาดที่จีนด้วยพร้อมแผนที่จะเปิดร้านมากกว่า 1,500 ร้านในจีน
“ เราตื่นเต้นเกี่ยวกับจีน” Schwartz ระบุในการให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับนักวิเคราะห์.