ตุรกีขึ้นภาษีสินค้าสหรัฐฯหวังหนุนเงินแข็งค่า
ความเคลื่อนไหวของตุรกีในการปรับขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ช่วยหนุนค่าเงินลีราที่อ่อนค่าลงไปมากในช่วงที่ผ่านมาให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้บ้างเล็กน้อย
โดยกฎหมายที่ลงนามโดยประธานาธิบดีเรเจป ทายิป แอร์โดอันเป็นการปรับขึ้นภาษีกับรถยนต์ในอัตรา 120% เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 140% และใบยาสูบเป็น 60%
เงินลีราของตุรกีแข็งค่าขึ้น 3% โดยได้แรงหนุนจากมาตรการที่ตั้งเป้าเพื่อสกัดกั้นนักลงทุนต่างชาติที่มุ่งเก็งกำไรค่าเงินลีรา
ถึงแม้ค่าเงินจะดีดกลับขึ้นมาบ้าง แต่สกุลเงินลีราของตุรกีอ่อนค่าลงไปเกือบ 1 ใน 3 จากนับตั้งแต่เดือนม.ค.เป็นต้นมา ทำให้ราคาสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันขยับขึ้น และก่อให้เกิดความกังวลว่า การอ่อนค่าของเงินลีราจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเนื่องไปถึงสกุลเงินอื่นๆในตลาดประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มูลค่าเดิมต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
รองประธานาธิบดี Fuat Oktay อธิบายถึงภาษีใหม่ว่า การปรับขึ้นภาษีเป็นการกำหนดกรอบเพื่อโต้ตอบกับการโจมตีอย่างตั้งใจกับเศรษฐกิจของเราโดยรัฐบาลสหรัฐฯ
โดยการปรับขึ้นภาษีจะมีผลไปถึงเครื่องสำอาง ข้าว และถ่านหินด้วย โดยก่อนหน้านี้ ผู้นำตุรกียังได้ระบุว่าจะห้ามการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯ
Ruhsar Pekcan รมว.กระทรวงการค้าของตุรกีกล่าวกับสำนักข่าว Anadolu ว่า การปรับขึ้นภาษีเป็น 2 เท่ากับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯจะมีมูลค่าประมาณ 533 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 17,844 ล้านบาท
ค่าเงินลีราอ่อนค่าลงต่ำสุดเมื่อวันที่ 13 ส.ค.แต่ค่อยๆ ฟื้นกลับขึ้นมา ซึ่งไม่ได้เป็นผลจากมาตรการภาษีโต้ตอบของตุรกีเท่านั้น แต่ยังเกิดจากการที่ธนาคารกลางตุรกีประกาศว่าจะให้ความช่วยเหลือในการอุ้มค่าเงินด้วย
นอกจากนี้ หลายมาตรการที่คุมเข้มเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนเงินกับธนาคารต่างประเทศก็จะช่วยหนุนค่าเงินลีราด้วยเช่นกัน โดยประธานาธิบดีแอร์โดอันเพิ่งระบุในสัปดาห์นี้ว่า ตุรกีจะไม่ช่วยเหลือศัตรูด้วยการลงทุนในสกุลเงินต่างประเทศ เขายังเฝ้าดูตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นและระดับของสินเชื่อ แต่ยืนยันว่าค่าเงินลีราที่ดิ่งฮวบลงเป็นผลมาจากการดำเนินการของต่างชาติ
โดยผู้นำตุรกีกล่าวหาสหรัฐฯว่า พยายามที่จะนำพาตุรกีให้ทรุดลง เป็นการคุกคามเพื่อให้ทางตุรกีปล่อยตัวบาทหลวงอเมริกัน แต่สหรัฐฯยืนยันว่า Andrew Brunson ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยในตุรกีมานานด้วยการทำหน้าที่ในโบสถ์เล็กๆ คือเหยื่อของการควบคุมตัวที่ไม่เป็นธรรม
บาทหลวงท่านนี้จากนอร์ธ แคโรไลนา สหรัฐฯ ถูกควบคุมตัวในตุรกีมานานเกือบ 2 ปีในข้อหาว่ามีความเชื่อมโยงกับพรรคแรงงานชาวเคิร์ตและขบวนการกูเลน ซึ่งตุรกีโทษว่าเป็นตัวการเคลื่อนไหวในการทำรัฐประหารที่ล้มเหลวในปี 2559
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ศาลตุรกียกคำร้องจากการยื่นอุทธรณ์ครั้งล่าสุดให้มีการปล่อยตัวบาทหลวง แต่ยังคงต้องรอคำพิพากษาของศาลสูงอยู่ ทนายของบาทหลวงกล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อรอยเตอร์
ซาราห์ แซนเดอร์ โฆษกทำเนียบขาวระบุว่า สหรัฐฯยังไม่เห็นหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่า บาทหลวง Brunson ได้กระทำความผิดใดๆ
โดยบาทหลวงปฏิเสธข้อหาจารกรรม แต่อาจต้องโทษจำคุกสูงถึง 35 ปีหากพบว่าท่านมีความผิดจริง.