ศก.สหรัฐฯไตรมาส 2 โตสูงสุดในรอบ 4 ปี
เศรษฐกิจสหรัฐฯกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในไตรมาส 2 โดยมีการเติบโตสูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี และแข็งแกร่งที่สุดในประเทศอุตสาหกรรม อ้างอิงจากข้อมูลของรัฐบาลที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา
โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศขยายตัวในอัตรา 4.1% ต่อปี เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ เนื่องจากชาวอเมริกันซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น ในเวลาเดียวกับยอดขายน้ำมันและถัวเหลืองในต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้กำลังเผชิญกับภาษีจากจีน หนุนการส่งออกครั้งใหญ่สุดในรอบเกือบ 4 ปี กระทรวงพาณิชย์รายงาน
ตัวเลขที่ได้ชี้ว่าสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก (ปัจจุบันมีมูลค่า 20 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) อยู่ในสถานะที่ดี ส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลดภาษีจากนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์และส.ส.พรรครีพับลิกัน
แต่การประเมินการเติบโตเบื้องต้น ซึ่งถูกปรับแก้ไขเมื่อข้อมูลสมบูรณ์มากขึ้น ยังไม่ได้เติมเต็มความฝันสูงสุดของทางทำเนียบขาว เพราะประธานาธิบดีทรัมป์หวังว่าตัวเลขการเติบโตจะสูงถึง 5%
จีดีพีในไตรมาส 2 นี้ถือว่าเติบโตสูงสุด หลังเคยเติบโตถึง 4.9% ในไตรมาส 3 ของปี 2557 และการเติบโตในไตรมาสเดือนม.ค. – มี.ค.ปรับเพิ่มเป็น 2.2% จากการประเมินก่อนหน้าที่คาดการณ์ว่าจะมีการเติบโต 2%
เงินคงคลังที่มีมากขึ้นหลังจากทศวรรษที่ผ่านมามีการเติบโตของการจ้างงาน ขณะที่ตัวเลขการว่างงานลดลง และการใช้จ่ายของผู้บริโภคพุ่งสูงสุดนับตั้งแต่สิ้นปี 2557 เป็นต้นมา
ยอดการซื้อสินค้าพุ่งสูงถึง 5.9% เนื่องจากได้แรงหนุนสำคัญจากยอดขายรถยนต์ที่บูมขึ้นมา ขณะที่ภาคบริการเติบโต 3.1%
ชาวอเมริกันมีการใช้จ่ายอย่างอิสระในด้านการดูแลสุขภาพ การเคหะ สาธารณูปโภค ร้านอาหารและโรงแรม อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์
ขณะเดียวกัน ยอดส่งออกสินค้าสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 13.3% ถือเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2556
แต่มีสัญญาณของการบิดเบือนในข้อมูลการส่งออกจากสงครามเผชิญหน้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัวเลขส่งออกเบื้องต้นที่สูงขึ้นได้แรงหนุนจากยอดขายน้ำมันและถั่วเหลือง เนื่องจากผู้นำเข้าของจีนเร่งกักตุนสต็อกสินค้าจากสหรัฐฯ ก่อนที่ภาษีตอบโต้ของจีนที่มีกับสินค้าสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้ในเดือนก.ค.
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า ตัวเลขการส่งออกน่าจะลดลงในไตรมาส 3 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ยอดนำเข้าเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% ถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นน้อยที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่ง
และอีกปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ คือการใช้จ่ายงบประมาณจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น 1.4%.