ยุโรปสั่งปรับกูเกิล 5 พันล้านดอลลาร์
หน่วยงานที่กำกับดูแลการผูกขาดทางการค้าของยุโรปสั่งปรับกูเกิลเป็นจำนวน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 167,650 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 18 ก.ค.และออกคำสั่งให้หยุดใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ได้รับความนิยมบนโทรศัพท์มือถือเพื่อกีดกันคู่แข่ง โดยกูเกิลระบุว่าเตรียมจะยืนอุทธรณ์ทันที
ค่าปรับครั้งนี้สูงเกือบ 2 เท่าจากค่าปรับครั้งก่อนที่สั่งให้กูเกิลจ่ายเมื่อปีที่แล้ว หลังจากสอบสวนพบว่าบริการค้นหาสินค้าช้อปปิงออนไลน์ของกูเกิลไม่เป็นธรรมกับคู่แข่ง
อัลฟาเบต บริษัทแม่ของกูเกิล ซึ่งมีกำหนดจะรายงานผลประกอบการทางการเงินในวันที่ 23 ก.ค.ระบุว่า จะจัดสรรเงินเพื่อจ่ายค่าปรับ ซึ่งจะลดกำไรของไตรมาส 2 ลงประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นักวิเคราะห์วอลล์สตรีทคาดการณ์ว่า บริษัทมีผลกำไรประจำไตรมาสอยู่ที่ 6,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 228,004 ล้านบาท ก่อนเสียค่าปรับ อ้างอิงจากข้อมูลของธอมสัน รอยเตอร์
ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งกูเกิลให้ผู้ผลิตอุปกรณ์ใช้งานได้ฟรี คิดเป็น 80% ของสมาร์ทโฟนทั่วโลก จากข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาด Strategy Analytics
จากข้อมูลของอียู พฤติกรรมผิดกฎหมายของกูเกิลย้อนหลังไปถึงปี 2554 และรวมถึงการบังคับให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนมีการติดตั้งกูเกิลเสิร์ช และโครมเบราว์เซอร์พร้อมกับกูเกิลเพลย์แอปสโตร์ในบริการแอนดรอยด์ จ่ายเงินให้บริษัทเหล่านั้นเพื่อให้ติดตั้งเฉพาะกูเกิลเสิร์ช และปิดกั้นไม่ให้บริษัทเหล่านี้ใช้งานระบบแอนดรอยด์ของบริษัทอื่น
“ กูเกิลใช้แอนดรอยด์เหมือนเป็นเครื่องมือทำให้ระบบเสิร์ชเอ็นจิ้นของตัวเองแข็งแกร่งเหนือคู่แข่ง ” Margrethe Vestager ผู้บริหารที่กำกับดูแลด้านการกีดกันทางการค้าของอียูกล่าวกับผู้สื่อข่าว
โดยกูเกิลมีเวลา 90 วันที่จะระงับวิธีการผูกขาดทางการค้ากับผู้ผลิตสมาร์ทโฟน และผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือ เลื่อนคำสั่งออกไปขณะที่อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ โดยทางอัลฟาเบตมีความเสี่ยงที่จะต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มเติมอีก 5% จากรายได้เฉลี่ยต่อวันทั่วโลกสำหรับการไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง
ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์รายสำคัญ ทั้งซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ โซนี เลอโนโว และ TLC ปฏิเสธที่จะออกความเห็นในประเด็นนี้
สุนทร พิชัย ประธานกรรมการบริหารของกูเกิลเตือนว่า การใช้งานแอนดรอยด์อาจจะไม่ฟรีอีกต่อไป ซึ่งเป็นผลมาจากคำสั่งของอียู หรืออาจเปลี่ยนเป็นการเข้มงวดกับการจัดจำหน่ายเหมือนคู่แข่งอย่างแอปเปิล
“ เรากังวลว่า การตัดสินใจในวันนี้จะทำให้สมดุลที่เราจัดการไว้กับแอนดรอยด์ปั่นป่วน และจะส่งสัญญาณที่มีปัญหาของระบบการเป็นเจ้าของจากแพลตฟอร์มที่เปิดกว้าง ” เขาโพสต์ในบล็อก
ประธานคณะกรรมาธิการการค้ากลางสหรัฐฯระบุเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ว่า จะพิจารณาการตัดสินใจของยุโรปอย่างใกล้ชิด
FairSearch ซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้ที่ยื่นคำร้องในปี 2556 เพื่อให้ทางอียูมีการสอบสวน และสมาชิกของกลุ่มในเวลานั้น มีคู่แข่งของกูเกิลรวมอยู่ด้วย ทั้ง Oracle , Nokia Oyj และ Microsoft ขานรับคำตัดสินครั้งนี้ด้วยความยินดี โดยระบุว่า นี่จะช่วยให้มีการแข่งขันของระบบปฏิบัติการบนสมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชันมากขึ้น
นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมมองว่า คำสั่งของอียูช้าเกินไปที่จะปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรม
“ มาตรการจากอียูเหมือนวัวหายล้อมคอก ” Geoff Blaber จาก CCS Insight ระบุ
Ben Rogoff ผู้จัดการกองทุนจาก Polar Capital ให้ความเห็นว่า “ ความจริงก็คือ ตราบใดที่กูเกิลให้ความสะดวกในการใช้งานกับผู้บริโภค ผู้บริโภคก็จะใช้แพลตฟอร์มของกูเกิลต่อ ”