คลื่นความร้อนซ้ำเติมญี่ปุ่นหลังเหตุน้ำท่วม
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. คลื่นความร้อนหนาแน่นเข้าปกคลุมบริเวณตะวันตกของญี่ปุ่น หลังเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ขัดขวางการทำงานเพื่อเก็บกวาดของทั้งผู้รอดชีวิตและเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ ที่ต้องทนทำงานท่ามกลางอากาศร้อนระอุ ภายหลังจากที่เกิดอุทกภัยร้ายแรงซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 200 ราย
เจ้าหน้าที่กู้ภัยหลายหมื่นรายยังคงขุดลงไปยังเศษซากปรักหักพังเพื่อค้นหาร่างผู้เสียชีวิตจากเหตุภัยพิบัติรุนแรง ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเกิดจากปริมาณน้ำฝนที่สูงเป็นประวัติการณ์ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มในหลายพื้นที่
จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่ที่ 219 ราย และคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้น เนื่องจากยังมีผู้สูญหายอยู่อีก 21 ราย ในขณะที่คลื่นความร้อนรุนแรงเคลื่อนตัวเข้าปกคลุม จนทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นกว่า 35 องศาเซลเซียส และสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คนที่ยังคงอ่อนแอ
ผู้รอดชีวิตราว 4,700 ราย ถูกสั่งอพยพจากบริเวณที่เกิดน้ำท่วมหนักและดินถล่ม บ้านของพวกเขาพังทลายลงจนเหลือเพียงเศษซาก
โยชิฮิเดะ ซูงะ เลขาธิการใหญ่ของคณะรัฐมนตรี เตือนผู้รอดชีวิต อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่กู้ภัยอีก 64,000 รายที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุภัยพิบัติเกี่ยวกับความอันตรายของ ‘ฮีทสโตรค’
โคจิ คุนิโทมิ โฆษกของหน่วยงานดูแลจัดการภัยพิบัติในจังหวัดโอคายามะ หรือพื้นที่ประสบภัยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า “เรากำลังดำเนินการอยู่ในภาวะยากลำบาก เนื่องจากคลื่นความร้อนที่กำลังถาโถมเข้าสู่ภูมิภาคของเรา”
สภาพอากาศฤดูร้อนที่กำลังระอุได้เข้าปกคลุมทั่วประเทศญี่ปุ่นในรอบไม่กี่วันที่ผ่านมา ส่งผลให้ตัวเลขอุณหภูมิทะยานสูงขึ้นหลังจากเกิดเหตุน้ำท่วมเพราะฝนตกหนักได้ไม่นาน
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น ออกคำเตือนเกี่ยวกับคลื่นความร้อนว่ามีความรุนแรงมากกว่าคลื่นความร้อนปกติ โดยอุณหภูมิในจังหวัดโอคายามะสูงถึง 36.8 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับอุณหภูมิทั่วไปในเมืองที่ประมาณ 31 องศาเซลเซียส
เมื่อวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา สื่อท้องถิ่นรายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และมีผู้ที่ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลทั่วประเทศมากถึง 2,000 ราย เนื่องจากภาวะฮีทสโตรค
ภาพจากโทรทัศน์เผยให้เห็นอาสาสมัครและผู้รอดชีวิต พยายามที่จะจัดการเก็บกวาดเศษซากที่เสียหายจากเหตุน้ำท่วม ภายใต้แดดที่กำลังแผดเผา
สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วม ได้ก่อให้เกิดคำถามว่าเจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นได้มีการเตรียมการรับมืออย่างเหมาะสม และทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพแล้วหรือไม่
ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประเมินค่าความเสียหายทางเกษตรกรรมหลังเกิดเหตุการณ์อุทกภัย โดยทั้งหมดมีมูลค่าอย่างน้อย 48,000 ล้านเยน หรือ 14,173 ล้านบาท.