เกาหลีใต้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 10.9%
เมื่อวันที่ 14 ก.ค.เกาหลีใต้ตัดสินใจปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 10.9% เป็น 8,350 วอน หรือราว 250 บาทต่อชั่วโมงในปีหน้า แต่กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กระบุว่า จะไม่ปรับขึ้นค่าแรงตามเพราะพวกเขาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้
ประธานาธิบดีมุนแจอิน ที่เป็นมิตรกับกลุ่มแรงงานให้คำมั่นว่าจะทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ได้ 55% เป็น 10,000 วอน หรือราว 310 บาทต่อชั่วโมงภายในปี 2563 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะหนุนการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
หลังจากมีการประชุมกันอย่างยาวนานถึง 19 ชั่วโมงที่สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 14 ก.ค.คณะกรรมการค่าแรงขั้นต่ำตกลงกันเรื่องการปรับขึ้นค่าแรง ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า 16.4% ในปีนี้ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของการจ้างงานที่ซบเซาในประเทศ
ทั้งนี้ เกาหลีใต้มีอัตราการจ้างงานต่อเดือนโดยเฉลี่ย 142,000 อัตราในระหว่างเดือนม.ค. – มิ.ย.ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวมากที่สุดหลังเกิดวิกฤตการเงินทั่วโลกในปี 2551 – 2552 อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งเกาหลีใต้
กลุ่มที่คัดค้าน ซึ่งเป็นตัวแทนของบรรดาเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กมองว่า การปรับขึ้นค่าแรงเป็นการตัดสินใจแต่เพียงฝ่ายเดียว และระบุว่า จะขอเลื่อนการปฏิบัติตามออกไปก่อนเป็นการชั่วคราว
“ เราไม่อาจยอมรับการตัดสินใจของคณะกรรมการค่าแรงขั้นต่ำได้” สมาพันธ์ธุรกิจขนาดเล็กของเกาหลีระบุในถ้อยแถลง
“ เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กอยู่ตรงทางแยกที่พวกเขาไม่สามารถช่วยได้ พวกเขาเลือกที่จะปิดกิจการ หรือลดจำนวนพนักงาน” ทางสมาพันธ์ให้ความเห็น โดยเสริมว่า พวกเขากำลังเผชิญกับความจริงที่น่าสลดใจ
โดยทางสมาพันธ์ระบุว่า สมาชิกจะมีการปรึกษาหารือกันถึงวิธีการรับมือที่เป็นไปได้
“ เราไม่อาจทำให้ทั้งฝ่ายบริษัทและแรงงานพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่ายได้ แต่หลังจากมีการดีเบตกันยาวนาน เราเสนอระดับค่าแรงที่เป็นการปรับปรุงรายได้ของแรงงานรายได้น้อย โดยไม่บั่นทอนเศรษฐกิจและการจ้างงาน” ริวจางซู ประธานคณะกรรมการระบุในแถลงการณ์
เขายังได้ระบุว่า คณะกรรมการจะยื่นข้อเสนอต่อทางรัฐบาลเพื่อให้การสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กที่กำลังประสบปัญหา
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระบุในรายงานเมื่อเดือนพ.ค.ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจส่งผลให้ให้การเติบโตของการจ้างงานชะลอตัวลง และบั่นทอนความสามารถในการแข่งขัน
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีมุนแจอิน ซึ่งชนะการเลือกตั้งในปีที่แล้ว ชูนโยบายให้ความสำคัญกับการสร้างงานเป็นอันดับแรก.