ไทยเป็น ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’
ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์มานานหลายทศวรรษ จนได้รับสมญานามว่า ‘ดีทรอยต์แห่งเอเชีย’ และปัจจุบันเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับที่ 12 ของโลกและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นอย่างโตโยต้าและมิตซูบิชิมีการผลิตรถยนต์ในไทยมาตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อน จีเอ็ม ฟอร์ด และ BMW ก็ทยอยตามมา โฆษกของจีเอ็มระบุว่า โรงงานในไทยเป็นฮับการผลิตสำคัญสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและแอฟริกา รถยนต์ที่ผลิตในไทยถูกส่งออกไปขายยัง 15 ตลาด รวมทั้งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
แม้การส่งออกรถยนต์คิดเป็นเกือบ 60% ของการผลิตในไทย แต่ตลาดรถยนต์ในประเทศยังมีสัญญาณการเติบโต เพราะชนชั้นกลางของไทยเพิ่มจำนวนขึ้น มีเพียง 18% ของครัวเรือนที่ไม่มีรถยนต์ในปี 2556 อ้างอิงจากผลสำรวจของ Neilsen
ชนชั้นกลางในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าเป็น 400 ล้านคนในปี 2563 จากการคาดการณ์ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ผลิตรถยนต์ของไทย
ไทยเป็นเลิศในด้านการผลิตรถเพื่อการพาณิชย์ โดยเฉพาะระกระบะขนาด 1 ตัน เช่น เชฟโรเลต โคโลราโด และฟอร์ด เรนเจอร์ โดยไทยเป็นตลาดรถกระบะที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศเป็นพื้นที่ชนบท และรถกระบะสามารถทำหน้าที่เป็นรถเพื่อการพาณิชย์สำหรับครอบครัวใหญ่ ที่เด็กๆชอบนั่งตรงส่วนกระบะกินลมชมวิว
“ ตั้งแต่ปี 2543 จีเอ็มลงทุนไปมากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ในโรงงานผลิตรถที่ระยอง” โฆษกของจีเอ็มระบุ “ เรายังคงลงทุนในไทยผ่านดีลเลอร์ สินค้าและบริการ”
ปัจจุบัน ไทยผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 1.2 ล้านคัน เมื่อเทียบกับ 818,000 คันในปี 2560 ตรงข้ามกับอินโดนีเซีย ที่ผลิตรถเพื่อการพาณิชย์เพียง 234,000 คัน แต่ผลิตรถยนต์ถึง 982,000 คัน ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2561 นี้ ยอดขายรถยนต์โดยรวมของไทยเติบโตขึ้น 18% โดยรถยนต์หรูอย่างเมอร์ซีเดสเบนซ์ ซึ่งผลิตเฉพาะรถยนต์โดยสารในไทย ระบุว่า บริษัทมียอดขายสูงสุดในปี 2560 ที่ผ่านมา ด้วยจำนวน 14,000 คัน
เพื่อให้อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ยังแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต รัฐบาลต้องการดึงดูดการผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและรถพลังงานไฟฟ้าให้เข้ามาที่ไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการใหม่มูลค่า 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯที่ได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนก.พ. หรือที่มีชื่อเรียกว่าโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ( EEC)
โดยโครงการ EEC จะประกอบด้วยการค้าและการริเริ่มพัฒนาเพื่อหนุนอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองและจังหวัดใกล้เคียง ไทยจะมีการยกเว้นภาษีและมีวีซ่าฟาสต์แทร็กให้นักลงทุน รวมถึงการให้เช่าที่ดินเป็นเวลานานถึง 99 ปี
แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้นักลงทุนกังวลใจ การรัฐประหารในปี 2549 และปี 2557 สั่นคลอนความเชื่อมั่นของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ Josh Kurlantzick เจ้าหน้าที่อาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระบุ
“ หลายปีที่การเมืองไม่นิ่ง ทำให้โครงการน่าดึงดูดใจน้อยลง” Kurlantzick กล่าว
แม้การแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้านจะขยายตัวเติบโตขึ้น แต่แนวโน้มของไทยยังคงสดใส
“ตลาดรถยนต์ในประเทศของอินโดนีเซียมีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในช่วงหลายปีมานี้ แต่ยังคงตามหลังไทยทั้งในด้านปริมาณ และความสามารถในการจัดการซัพพลายเชน”.