เกาหลีใต้ประท้วงขับไล่ผู้อพยพเยเมน
ผู้อพยพชาวเยเมนไม่กี่ร้อยคนก่อให้เกิดความไม่พอใจและการรวมตัวประท้วงอย่างรุนแรงในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่ยึดมั่นในชาติพันธุ์ของตัวเอง สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกต่อต้านผู้อพยพที่แพร่กระจายมาก่อนหน้านี้ทั่วยุโรป และเป็นแนวคิดที่ช่วยให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้เข้ามาทำงานในทำเนียบขาว
มีผู้อพยพมากกว่า 1 ล้านคนที่เดินทางมาที่เยอรมนี หลังประเทศมีนโยบายเปิดพรมแดนในปี 2558 เพื่อต้อนรับผู้อพยพ ซึ่งต่อมากลายเป็นความแตกแยกที่ร้าวลึกในประเทศเยอรมนีเองและประเทศเพื่อนบ้านในยุโรป
และสหรัฐฯ ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางที่ได้รับความนิยมสูงสุดสำหรับผู้อพยพ ได้กักตัวผู้ที่ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายที่พรมแดนเม็กซิโกทุกเดือน และผู้นำสหรัฐฯ สัญญาจะสร้างกำแพงกั้นไม่ให้ผู้อพยพเข้าสหรัฐฯได้
แต่ชาวเยเมนประมาณ 550 คนที่หลบหนีมาจากภัยสงครามในประเทศและเดินทางไกลมาถึงเกาหลีใต้ ก่อให้เกิดปฏิกริยาที่ไม่มีการประนีประนอมจากพลเมืองเกาหลีใต้
“รัฐบาลบ้าไปแล้ว คนพวกนี้จะข่มขืนลูกสาวของเรา !” นี่เป็นหนึ่งในความเห็นที่มีคนมากดไลค์นับพันครั้งบน Naver ที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากชาวเน็ตในโลกออนไลน์ของเกาหลีใต้
ในเดือนมิ.ย.มีผู้ประท้วงหลายร้อยคนในกรุงโซลที่เรียกร้องให้ทางการเกาหลีใต้ “ไล่ผู้ลี้ภัยปลอม” ออกไป ขณะที่มีผู้ลงชื่อเกือบ 700,000 คนแล้วในการยื่นคำร้องบนเว็บไซต์ประธานาธิบดีเพื่อให้จัดการขั้นเด็ดขาดกับผู้อพยพ ทั้งที่เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายควบคุมผู้ลี้ภัยที่เข้มงวดที่สุดอยู่แล้ว
ผู้ลี้ภัยเป็นแนวคิดที่แปลกแยกในประเทศเกาหลีใต้ที่มีชาวต่างชาติอาศัยอยู่เพียง 4% โดยส่วนใหญ่เป็นชาวจีนและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การแบ่งแยกและเหยียดเชื้อชาติจึงเป็นสิ่งที่แพร่กระจายไปทั่ว
ผู้อพยพหลายคนถูกเยาะเย้ยดูถูกในระบบขนส่งสาธารณะจากภาพลักษณ์ที่ดู “สกปรก” และ “ตัวเหม็น” นอกจากนี้ พวกเขายังถูกปฏิเสธที่จะให้เข้าไปในภัตตาคารหรู หรือโรงอาบน้ำสาธารณะ
จากผลสำรวจของรัฐบาลในปี 2558 ชี้ว่า ชาวเกาหลีใต้ 32% ไม่อยากให้ชาวต่างชาติมาเป็นเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับ 14% ในสหรัฐฯ และ 12.2% ในจีน
ชาวเยเมนใช้ความได้เปรียบของวีซ่านักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาที่เกาะเจจู ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีการโหมประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
พัคโซยอง นักศึกษามหาวิทยาลัยวัย 20 ปีจากแดจอน เป็นคนหนึ่งที่ให้ความเห็นต่อต้านการขอลี้ภัยของผู้อพยพชาวเยเมน
“ฉันได้ยินมาว่า เยเมนถูกจัดอยู่ในอันดับที่ต่ำมากเรื่องสิทธิสตรี และฉันกลัวว่าเกาะเจจูจะมีอันตรายมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และอาชญากรรมจะเพิ่มขึ้น” เธอให้สัมภาษณ์กับสื่อ AFP
ฮันยูมี นักศึกษาอีกคนเสริมว่า “ทำไมพวกเขาต้องเดินทางมาที่เกาหลีใต้ด้วย ในเมื่อมีประเทศอื่นอยู่ใกล้ๆอีกมาก”
มีผู้อพยพจากเยเมนประมาณ 40 คนที่มาพักอยู่ในโรงแรมเก่าๆในเมืองเจจู
โมฮัมเหม็ด ซาเล็ม ดูฮาอิช อพยพมาพร้อมกับภรรยาและลูกชายวัย 8 เดือน เขาเคยทำงานในสนามบินนานาชาติเซนา ก่อนที่จะอพยพหนีภัยสงครามจากประเทศตัวเองมา “มีศพอยู่ทุกหนทุกแห่ง และมีการต่อสู้ ยิงกัน รวมถึงปืนสั้นและระเบิด” เขากล่าวกับสำนักข่าว AFP
เขาต้องจ่ายค่าวีซ่าไปโอมานให้นายหน้า 600 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่โอมาน เขาไปที่มาเลเซีย ซึ่งเขาทำงานผิดกฎหมายอยู่นานถึง 3 ปี
เขาเคยหวังจะลี้ภัยไปสหรัฐฯ ที่ซึ่งเขามีญาติพี่น้องอยู่หลายคน แต่ต้องล้มเลิกความคิดเมื่อทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ เขาจึงตัดสินใจมาที่เกาหลีใต้แทน เขาบอกว่า เขาเรียนภาษาเกาหลีได้จากละครโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมทั่วเอเชีย
เขาเสริมว่า “เราอยากให้รัฐบาลเกาหลีและประชาชนชาวเกาหลียอมรับเราและปฏิบัติต่อเราอย่างคนที่ต้องการความช่วยเหลือ”
หนังสือพิมพ์ Kyunghyang รายงานว่า วิธีการปฏิบัติต่อผู้อพยพอย่างโมฮัมเหม็ดเป็นบททดสอบสำคัญของสิทธิมนุษยชนในเกาหลีใต้
มีชาวเกาหลีนับล้านคนอพยพจากคาบสมุทรเกาหลีเพื่อหนีจากความโหดร้ายในช่วงที่เกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นและช่วงสงครามเกาหลี
“เหตุการณ์ที่น่าเศร้าในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของเราทำให้คนจำนวนมากต้องหนีออกจากประเทศและไปพึ่งพาความมีจิตใจดีของประเทศอื่น การต้อนรับผู้ลี้ภัยเหล่านี้เป็นโอกาสสำหรับเราที่จะชดใช้หนี้คืนให้กับประชาคมนานาชาติในช่วงเวลาที่ผ่านมา”.