แมร์เคิลเร่งแก้ปัญหาผู้อพยพ
นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลแห่งเยอรมนีระบุเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ว่า จะหาวิธีทำข้อตกลงแยกกับประเทศในสหภาพยุโรปเรื่องผู้อพยพ เธอยอมรับว่าอียูล้มเหลวที่จะหาทางแก้ปัญหาร่วมกันในประเด็นที่มีความเสี่ยงกับรัฐบาลของเธอ
ตั้งแต่มีผู้อพยพทางทะเลเมดิเตอรเรเนียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2558 ทำให้มีผู้ลี้ภัยและผู้อพยพมากกว่า 1 ล้านคนที่เดินทางมาถึงอียู
ผู้นำอียูหลายคนยุ่งยากที่จะรับมือกับปัญหานี้ และส่งผลบั่นทอนความเป็นหนึ่งเดียวของอียู ทำลายระบบวีซ่าเชงเก้นที่สามารถเดินทางถึงกันได้อย่างเสรีในอียู
ผู้นำ 16 คนในอียูจัดการประชุมฉุกเฉินขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.โดยหวังจะทำข้อตกลงสำหรับการประชุมซัมมิตของสมาชิก 28 ประเทศในวันที่ 28 – 29 มิ.ย.นี้
พวกเขาจะกระชับความเข้มงวดที่พรมแดนและให้งบประมาณอุดหนุนเพิ่มขึ้นกับหลายประเทศเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้พลเมืองของประเทศเหล่านั้นลงเรืออพยพเข้ามาที่ยุโรป แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องการแชร์จำนวนผู้อพยพ
เยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่ร่ำรวยเป็นจุดหมายปลายทางที่ผู้อพยพตั้งเป้าที่จะเข้ามามากที่สุด ต้องจบช่วงเวลาของการเปิดรับผู้อพยพ เพราะนายกฯแมร์เคิลถูกกดดันอย่างหนัก พรรคอื่นที่สนับสนุนเธอขู่จะคว่ำรัฐบาลของเธอในประเด็นนี้
“ จะมีข้อตกลงทวิภาคีและไตรภาคี เป็นวิธีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่จำเป็นต้องรอให้ครบทั้ง 28 ประเทศสมาชิก ” เธอกล่าว โดยมีประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงให้การสนับสนุน เขาระบุว่าการแก้ปัญหาควรเป็นเรื่องของยุโรป แต่ควรมีหลายประเทศรวมกัน
ข้อมูลจากสหประชาชาติชี้ว่ามีผู้อพยพประมาณ 41,000 คนที่เดินทางข้ามทะเลเข้ามาในอียูในปีนี้ แต่โพลล์สำรวจความเห็นชี้ว่า ปัญหาผู้อพยพเป็นปัญหาแรกที่น่ากังวลของพลเมืองในอียูที่มีประมาณ 500 ล้านคน
อิตาลีเป็นประเทศที่ต้องประสบปัญหาเรื่องผู้อพยพมายาวนาน และรัฐบาลใหม่ที่เน้นแนวคิดประชานิยมปฏิเสธความคิดที่จะให้อิตาลีเปิดรับผู้อพยพเพิ่มขึ้น โดยอิตาลีเริ่มไม่สนใจผู้อพยพที่อยู่ในเรือกลางทะเล และระบุว่าจะไม่ยอมเป็นจุดเข้าอียูเพียงจุดเดียวอีกต่อไป ทำให้มอลตาอาจรับผู้อพยพจำนวนหนึ่งในช่วงไม่กี่วันนี้ อ้างอิงจากแหล่งข่าว
นายกรัฐมนตรีจูเซปเป กอนติของอิตาลี ต้องการยกเลิกกฎที่ว่า ประเทศแรกในอียูที่ผู้อพยพเดินทางมาถึงต้องรับผิดชอบผู้อพยพเหล่านั้น
โดยเขากล่าวว่า ประเทศที่ปฏิเสธผู้อพยพควรได้รับงบประมาณจากอียูน้อยลง ซึ่งเป็นการต่อว่า 4 ประเทศในอียูที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์มาก่อนที่ไม่ต้องการรับผู้อพยพเลย
อียูจะตกลงกันในสัปดาห์นี้เพื่อให้เงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นกับผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในตุรกีและเตรียมงบประมาณมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือโครงการในแอฟริกา
นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาจัดตั้งศูนย์กลางในการรับเรื่องและพิจารณาคำร้องขอลี้ภัยและส่งกลับในกรณีที่มีการปฏิเสธคำร้อง โดยอียูต้องการให้ UNHCR เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการในศูนย์นี้
“ การแก้ปัญหาของยุโรปหมายถึงการเอาเงินของเยอรมนีมาใช้ในหลายๆเรื่อง เราต้องใช้เงินมากขึ้นและช่วยเหลือเพิ่มขึ้น อย่างลิเบีย เราจะคุมเข้มพรมแดนและยามชายฝั่ง และเราจะส่งผู้อพยพผิดกฎหมายกลับมากขึ้น ” นักการทูตคนหนึ่งของอียูกล่าว