เซ็กส์ทัวร์เด็กเติบโตทั่วโลก
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญการต่อต้านการค้ามนุษย์ระบุว่า เด็กทั่วโลกมีแนวโน้มจะกลายเป็นเหยื่อจากคนในประเทศ มากกว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เสาะหาช่องทางการมีเพศสัมพันธ์ที่ผิดกฎหมาย
ภาพของนักล่าทางเพศโดยทั่วไปไม่ใช่ชายผิวขาว วัยกลางคน ฐานะร่ำรวย จากประเทศทางตะวันตกอีกต่อไป แต่กลายเป็นนักธุรกิจท่องเที่ยว แรงงานจากต่างประเทศ และนักท่องเที่ยวภายในประเทศหรือภายในภูมิภาคเดียวกับเหยื่อ ซึ่งทางผู้เชี่ยวชาญได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในการประชุมว่าด้วยการปกป้องเด็กจากการเดินทางและการท่องเที่ยว ในโบโกตา โคลอมเบีย
อ้างอิงข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ มีเด็กกว่า 1.2 ล้านรายทั่วโลกที่เป็นเหยื่อให้กับเซ็กส์และแรงงานค้ามนุษย์
การท่องเที่ยวเพื่อมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก ถูกกระตุ้นให้เพิ่มมากขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งการเดินทางที่มีราคาถูก อินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีบนโทรศัพท์มือถือ อย่างแอปพลิเคชันสำหรับส่งข้อความ ที่เปิดช่องทางให้นักล่าเหล่านี้ค้นหาเด็กที่ไร้ทางสู้ และสามารถแลกเปลี่ยนสื่อลามกได้โดยที่ไม่ต้องระบุตัวตน
ซานดรา โฮเวิร์ด รมช.กระทรวงการท่องเที่ยวของโคลอมเบียระบุว่า “เหล่าปีศาจในตอนนี้ไม่เหมือนกับที่เรารู้จักกันในช่วงไม่กี่ปีก่อน ภาพของพวกมันเปลี่ยนไปมากจนเราต้องตื่นตัวให้มากขึ้นกว่าเดิมมาก”
ซานดราบอกกับมูลนิธิธอมป์สัน รอยเตอร์ว่า การท่องเที่ยวเติบโตขึ้น เช่นเดียวกับความเสี่ยงและความไร้ทางสู้ของเด็กต่อนักล่าทางเพศ
โดโรธี รอซกา หัวหน้าของกลุ่มต่อต้านการค้ามนุษย์ในเด็กหรือ ECPAT International ระบุว่า “ผู้กระทำผิดบางรายเป็นชาวต่างชาติ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นนักท่องเที่ยวที่อยู่ในภูมิภาคหรือประเทศเดียวกับเหยื่อ”
ทาง ECPAT ระบุในรายงานเมื่อปี 2559 ว่า แทนที่เหล่าผู้กระทำผิดจะถูกตัดสินว่าเป็นผู้ล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ผู้คนเหล่านี้ที่เอาเปรียบเด็กทางเพศกลับกลายเป็นผู้ฉวยโอกาสที่เชื่อว่าตนจะสามารถเอาตัวรอดจากคดีต่าง ๆ ได้
นาจาท มาลลา เอ็มจีด ประธานกองกำลังผู้ได้รับมอบหมายทั่วโลกเพื่อยุติการเอาเปรียบเด็กในธุรกิจการเดินทางและท่องเที่ยว รวมถึงอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าเด็ก โสเภณีเด็ก และสื่อลามกของสหประชาชาติ ระบุว่า อาชญากรรมทางเพศต่อเด็กกลับได้รับการกระตุ้นจากทั้งการยกเว้นโทษ และความใจกว้างของสังคมที่ทำให้มีอัตราการลงโทษที่ต่ำมาก
เธอระบุในงานประชุมว่า “ระหว่างการทำงานของฉัน ฉันได้เดินทางไปยังประเทศมากมาย และสิ่งที่ทำให้ฉันหัวเสียที่สุด ก็คงเป็นเพราะเรื่องเหล่านี้ดูเป็นเรื่องธรรมดา”
คาเรน อบูดิเน็น หัวหน้าของสำนักงานปกป้องเด็กโคลอมเบียระบุว่า ผู้ที่อยู่อาศัยในท้องที่ที่คุ้นเคยกับแหล่งการท่องเที่ยวทางเพศ ตั้งแต่พนักงานต้อนรับในโรงแรม จนกระทั่งคนขับรถบัสและรถแท็กซี่ สามารถช่วยกันรายงานเหตุการณ์หรืออาชญากรรมเหล่านี้ได้
ในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา ทางหน่วยงานสำนักงานปกป้องเด็กโคลอมเบีย ช่วยเหลือเด็กกว่า 662 ราย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นเด็กผู้หญิง ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศของเด็กเพื่อการค้า