อียูขึ้นภาษีโต้กลับสหรัฐฯ
สหภาพยุโรปได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้นโยบายการกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
โดยกำแพงภาษีจากสหภาพยุโรป มูลค่า 2,800 ล้านยูโรหรือราว 109,104 ล้านบาท กับสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 มิ.ย.เป็นต้นไป เช่น เบอร์เบิน วิสกี้, รถจักรยานยนต์ และน้ำส้ม
ขณะที่อยู่ในสภาเมืองดับลินของไอร์แลนด์ Jean-Claude Juncker ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ระบุว่า ภาษีที่ตอบโต้สหรัฐฯจากอียูเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เขาเสริมว่า “ เราจะทำสิ่งที่เราต้องทำเพื่อปรับสมดุลและปกป้องอียู”
ในทวีตของเขาเมื่อวันที่ 22 ประธานาธิบดีทรัมป์ขู่ต่อไปว่า สหรัฐฯจะขึ้นภาษีเป็น 20% กับรถยนต์ทั้งหมดที่นำเข้าจากยุโรป
ผู้นำสหรัฐฯประกาศในเดือนมี.ค.ว่าจะปรับขึ้นภาษี 25% กับสินค้าเหล็ก และ 10% กับอะลูมิเนียมที่นำเข้ามาในสหรัฐฯ โดยเขาระบุว่าซัพพลายเหล็กและอะลูมิเนียมล้นตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะจากจีน ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียมอเมริกัน ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของสหรัฐฯ
หลังจากเลื่อนมาสักระยะ กำแพงภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ ก็มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.และส่งผลกระทบต่อทั้งอียู แคนาดา เม็กซิโก และประเทศพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ รวมถึงอินเดียด้วย
ในส่วนของอินเดีย ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีกับสินค้า 29 รายการที่นำเข้ามาจากสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงสินค้าการเกษตร เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก
โดยภาษีใหม่นี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 4 ส.ค.และจะกระทบกับอัลมอนด์ วอลนัต และถั่วชิกพี รวมถึงสินค้าอื่นๆจากสหรัฐฯ
ขณะที่เกาหลีใต้ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย และบราซิลเห็นพ้องที่จะจำกัดปริมาณโลหะที่ส่งออกไปสหรัฐฯ จากผลกระทบเรื่องภาษี
นอกจากนี้ แคนาดาประกาศขึ้นภาษีกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 16,600 ดอลลาร์แคนาดา หรือราว 417,158 ล้านบาท โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. ส่วนเม็กซิโกตั้งกำแพงภาษีมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 99,240 ล้านบาท กับสินค้าอเมริกันหลายรายการ จากเหล็กจนถึงเนื้อหมู และวิสกี้ เริ่มตั้งแต่ 2 สัปดาห์ที่แล้ว
มีการเผชิญหน้ากันและโต้ตอบกันด้วยวาทกรรมหลังจากการประชุมซัมมิตกลุ่มประเทศ G7 ที่ควิเบค แคนาดา โดยผู้นำจากประเทศในกลุ่มต่างกล่าววิจารณ์กำแพงภาษีและนโยบายการค้าของสหรัฐฯ อย่างรุนแรง
สินค้าจากสหรัฐฯ ที่เป็นเป้าหมายสำคัญของอียูในการขึ้นภาษีครั้งนี้ได้แก่ ยาสูบ รถจักรยานยนต์แบรนด์ฮาร์ลีย์ เดวิดสัน แคนเบอร์รีและเนยถั่ว ซึ่งจะมีอัตราภาษี 25% อย่างไรก็ตาม อียูจะตั้งกำแพงภาษีถึง 50% กับสินค้าอย่างรองเท้า เสื้อผ้าบางประเภท และเครื่องซักผ้าจากสหรัฐฯ
ทั้งนี้ สินค้าที่อียูเจาะจงขึ้นภาษีเป็นพิเศษ เป็นสินค้าที่ส่งผลกระทบทางการเมืองสูงสุด โดยเบอร์เบินวิสกี้ผลิตในรัฐเคนตักกี ซึ่งเป็นรัฐที่ ส.ว.มิตช์ แมคคอนเนลครองเสียงส่วนใหญ่ ส่วนน้ำส้มเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของรัฐฟลอริดา ซึ่งเป็นรัฐ swing state ที่ส่งผลในการเลือกตั้งสหรัฐฯ
นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า กำแพงภาษีสหรัฐฯจะส่งผลทำให้ราคาโลหะสูงขึ้น ทำลายซัพพลายเชน และอาจส่งผลไปถึงครัวเรือนสหรัฐฯ ด้วย
สำนักการค้าสหรัฐฯ ระบุว่า รายชื่อสินค้าที่สหรัฐฯปรับขึ้นภาษีจะไม่ส่งผลทำให้ราคาสูงขึ้นสำหรับผู้บริโภค แต่ผู้ค้าปลีกและผู้ผลิตไม่เห็นด้วย
โดย Rick Helfenbein ประธานและซีอีโอของสมาคมเครื่องแต่งกายและรองเท้าอเมริกันระบุว่า ครอบครัวอเมริกันที่มีสมาชิก 4 คนโดยเฉลี่ยจะต้องจ่ายเงินเพิ่มอย่างน้อยอีก 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 16,540 บาทต่อปี เพื่อซื้อสินค้าบริโภคที่ได้รับผลกระทบจากภาษี.