กรีซหลุดพ้นวิกฤตการเงินแล้ว
รัฐบาลกรีซระบุว่า ประเทศกรีซได้เปลี่ยนโฉมหน้าใหม่หลังสมาชิกยูโรโซนบรรลุข้อตกลงของแผนจัดการหนี้จำนวนมหาศาล ทำให้เป็นการสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือทางการเงินกับกรีซที่กินเวลายาวนานถึง 8 ปี
“ ผมต้องขอกล่าวว่า รัฐบาลกรีซพอใจกับข้อตกลงนี้ แต่ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลนี้จะไม่ลืมสิ่งที่ประชาชนของกรีซต้องประสบมาตลอด 8 ปีที่ยาวนาน” Eucid Tsakalotos รมว.กระทรวงการคลังระบุ
Dimitris Tzanakopoulos โฆษกรัฐบาลกล่าวยกย่องการตัดสินใจครั้งประวัติศาสตร์ ที่ทำให้ประชาชนของกรีซสามารถยิ้มได้อีกครั้ง ตลาดการเงินขานรับทันที โดยดัชนีตลาดหุ้นหลักพุ่งขึ้น 1.6%
Tsakalotos กล่าวว่าแผนการ ซึ่งทำให้กรีซขยายเวลาการชำระหนี้บางส่วนออกไปอีก 10 ปี และให้เครดิตใหม่เพิ่มอีก 15,000 ล้านยูโร เป็นการฉลองการสิ้นสุดวิกฤตกรีซ และผมคิดว่ากรีซได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปแล้ว
รมว.กระทรวงการคลังจาก 19 ประเทศสมาชิกยูโรโซนต้องการให้มีการบรรลุข้อตกลงระหว่างกรีซและเจ้าหนี้ระหว่างประเทศที่ทำให้มีความปลอดภัยจากมาตรการช่วยเหลือครั้งที่ 3 และครั้งสุุดท้ายในวันที่ 20 ส.ค.และเผชิญหน้ากับตลาดอีกครั้ง
กรีซได้รับเงินช่วยเหลือจำนวน 275,000 ล้านยูโร ( 10.69 ล้านล้านบาท ) จากเจ้าหนี้นานาประเทศในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา และเกือบจะพ้นจากการเป็นสมาชิกยูโรโซนถึง 2 ครั้ง Pierre Moscovici คณะกรรมาธิการของอียูระบุ
“ ต้องมีการเสียสละอย่างใหญ่หลวง แต่ในที่สุด หลังจาก 8 ปีของการปฏิรูปที่ยากลำบาก การปรับเปลี่ยนที่เข้มงวด กรีซสามารถที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยสองเท้าของตัวเองแล้ว ”
แต่รัฐบาลที่เป็นฝ่ายซ้ายยังคงยึดติดกับมาตรการที่เข้มงวดและการปฏิรูป รวมทั้งการเกินดุลงบประมาณมานานกว่า 40 ปี โดยจะมีการจับตาดูการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
กรีซต้องดิ้นรนเอาตัวรอดจากเงินกู้ของยูโรโซนมาตั้งแต่ปี 2553 เมื่อสูญเสียการเข้าถึงตลาดเพื่อระดมทุน สาเหตุสำคัญคือมีการกำหนดตัวเลขการขาดดุลงบประมาณสูงเกิน หนี้สาธารณะจำนวนมหาศาล และเศรษฐกิจที่ตกต่ำ รวมถึงระบบสวัสดิการที่ขยายใหญ่โตเกินไป
ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่าอาจถูกคัดออกจากยุโรป กรีซจมดิ่งสู่การถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนค่อยๆ ขยับขึ้นมาอยู่ในสถานะของการเริ่มฟื้นฟู จนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 1.9% ในปีนี้ หลังจากเศรษฐกิจของประเทศทรุดหนักลงมากกว่า 26% หลังปี 2553
ภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจของกรีซเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานถึง 4 รัฐบาล มาถึงนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน Alexis Tsipras ที่ต้องมีการปฏิรูปอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะสมดุล ค่าแรงลดลงไปเกือบ 20% ตั้งแต่ปี 2553 มีการลดเงินบำนาญและสวัสดิการอื่นๆลงถึง 70% ในช่วงเวลาเดียวกัน ขนาดของภาครัฐเองก็ลดลงถึง 26%
การว่างงานลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงสูงอยู่ที่ 20% โดยคนหนุ่มสาวว่างงานมากถึง 43% ทำให้ต่้องดิ้นรนไปทำงานที่ต่างประเทศนับพันคน
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนได้รับความมั่นใจจากมาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาล ที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ประมาณ 4% เมื่อเทียบกับช่วงวิกฤตสูงสุดที่ดอกเบี้ยพุ่งขึ้นไปสูงถึง 24%.