อเมซอนจี้โรงงานจีนเร่งปฏิรูป
อเมซอน บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่เรียกร้องให้โรงงานในจีนซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ของบริษัทมีการปฏิรูปแรงงาน เนื่องจากกลุ่มเฝ้าระวังระบุว่าโรงงานแห่งนี้ปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเลวร้าย
โดยอเมซอนพบว่ามี 2 ประเด็นที่น่ากังวลที่โรงงาน Foxconn ในเมืองเฮงหยางของจีนในช่วงปีนี้ บริษัทเป็นห่วงเรื่องการปฏิบัติต่อแรงงานชั่วคราว และการจ่ายค่าล่วงเวลา Ty Rogers โฆษกของอเมซอนรายงาน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดมากกว่านี้
มีรายงานการสืบสวนจากกลุ่ม China Labor Watch ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในสหรัฐฯ และ The Observer หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ของ The Guardian ที่ระบุถึงสภาพของแรงงานในโรงงานที่เมืองเฮงหยาง ซึ่งเป็นผู้ผลิตลำโพงอัจฉริยะ Echo และ เครื่องอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ Kindle
ทั้งนี้ การสืบสวนมีขึ้นในช่วงเดือนส.ค.ปี 2560 – เม.ย.ปี 2561 และมีการเผยแพร่รายงานผลการสืบสวนบนเว็บไซต์ของ China Labor Watch เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.ที่ผ่านมา
“ ผลกำไรของอเมซอนมาจากแรงงานที่มีสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ และพวกเขาไม่มีทางเลือก จึงต้องทำงานล่วงเวลาเป็นจำนวนมากเพื่อยังชีพ ” อ้างอิงจากรายงาน
อเมซอนระบุว่า บริษัทค้นพบประเด็นนี้ในโรงงาน Foxconn ในระหว่างการตรวจสอบบัญชีเมื่อเดือนมี.ค. และบริษัทได้ร้องขอแผนการแก้ไขในทันทีจาก Foxconn ในเฮงหยาง โดยขอให้โรงงานชี้แจงรายละเอียดของแผนที่จะปรับปรุงแก้ไข
ทาง Foxconn ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าบริโภคอิเล็กทรอนิกส์ชี้แจงว่า บริษัทตระหนักและมีความใส่ใจกับรายงานและกำลังทำการสืบสวนตรวจสอบในประเด็นนี้อย่างเต็มที่
“ หากพบว่าเป็นเรื่องจริง จะมีการดำเนินการในทันที เพื่อเป็นการปฏิบัติตามหลักจริยธรรมของบริษัทเรา ” บริษัทรายงาน
โดยรายงานระบุว่า โรงงานมีแรงงานชั่วคราวเป็นจำนวนมาก แรงงานกลุ่มนี้จะไม่ได้รับค่าจ้างเวลาเจ็บป่วย และไม่มีวันหยุด ภายใต้กฎหมายของจีน โรงงานแต่ละแห่งต้องจำกัดจำนวนแรงงานชั่วคราวไม่ให้มีเกิน 10% แต่แรงงานชั่วคราวในโรงงานแห่งนี้มีมากถึง 40% ของแรงงานทั้งหมด
แรงงานที่ทำงานล่วงเวลา ไม่ได้รับค่าจ้าง 1.5 เท่าในช่วงที่ทำงานล่วงเวลาแต่อย่างใด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย โดยแรงงานได้รับเงินค่าจ้างในอัตราปกติ ขณะที่ Foxconn ชี้แจงว่า บริษัทจ่ายค่าตอบแทนให้พนักงานอย่างถูกต้อง เหมือนกับบริษัทอื่นๆที่แข่งขันกันในอุตสาหกรรม
“ ค่าตอบแทนของเราคือค่าจ้างพื้นฐาน ค่าจ้างในการทำงานล่วงเวลา ที่อยู่และเบี้ยเลี้ยงอื่นๆ รวมทั้งเงินจูงใจและโบนัส ” บริษัทระบุ ซึ่งขัดแย้งกับรายงานที่ระบุว่า แรงงานในโรงงานแห่งนี้ทำงานหนัก แต่ได้ค่าจ้างต่ำ
อ้างอิงจากรายงาน แรงงานที่โรงงานเฮงหยางของ Foxconn ได้ค่าจ้างเฉลี่ยรายเดือนคิดเป็นประมาณ 50% ของแรงงานอื่นในเมืองในปี 2560
“ ประเด็นสำคัญอื่นๆที่น่ากังวลในโรงงานคือ ระบบป้องกันอัคคีภัยในหอพัก การขาดอุปกรณ์ที่เพียงพอ ไม่มีสหภาพแรงงาน และการจัดการที่เข้มงวดที่ทำให้แรงงานถูกละเมิดด้วยวาจาเป็นประจำ ” รายงานระบุ