ZTE ฟื้นได้หลังจ่ายค่าปรับ
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ZTE บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อันดับ 2 ของจีนสามารถกอบกู้บริษัทคืนมาจากวิกฤต หลังจากตกลงที่จะจ่ายค่าปรับจำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯและยกเครื่องคณะผู้บริหารใหม่ ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ทางสหรัฐฯจะยกเลิกคำสั่งแบนไม่ให้ ZTE ทำธุรกิจกับซัพพลายเออร์สหรัฐฯ
ข้อตกลงนี้มีขึ้นหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐฯมีการผ่อนปรนทางการค้ากับจีน และเจรจาอย่างต่อเนื่องที่จะหลีกเลี่ยงสงครามการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ
ข่าวนี้ส่งผลให้หุ้นของบริษัทอเมริกันที่ทำธุรกิจกับ ZTE พุ่งขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. แต่ส.ส.สหรัฐฯ กล่าวโจมตีข้อตกลงนี้ทันที โดยอ้างถึงคำเตือนของสำนักข่าวกรองว่า ZTE เป็นภัยคุกคามกับความมั่นคงของประเทศ
ในปี 2560 พบว่า ZTE ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯด้วยการขายอุปกรณ์ให้กับอิหร่าน ทำให้สหรัฐฯออกคำสั่งห้ามไม่ให้ ZTE ซื้อชิ้นส่วนจากบริษัทอเมริกันในเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังพบว่า บริษัทโกหกเรื่องการลงโทษผู้บริหารของบริษัทที่ละเมิดการคว่ำบาตรด้วย ส่งผลให้ ZTE ต้องหยุดการดำเนินธุรกิจ
ภายใต้ข้อตกลงใหม่นี้ ZTE จะเปลี่ยนบอร์ดบริหารและการจัดการภายใน 30 วัน จ่ายค่าปรับ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีสัญญาเพิ่มเติมที่มีมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยข้อตกลงนี้ยังรวมถึงคำสั่งแบน 10 ปีหากบริษัทมีการละเมิดข้อตกลงอีกในอนาคต
“เราจะจับตาดูพฤติกรรมของ ZTE อย่างระมัดระวัง หากมีการละเมิดอีกในอนาคต เราจะปฏิเสธไม่ให้บริษัทเข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐฯ รวม รวมถึงการเก็บเงินเพิ่มเติมในสัญญาจำนวน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”
ทางสื่อรอยเตอร์รายงานว่า ZTE ได้ลงนามในข้อตกลงกับกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ พร้อมด้วยจำนวนค่าปรับและเงื่อนไขอื่น
Wilbur Ross รมว.กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ค่าปรับนี้มีมูลค่าสูงสุดเท่าที่ทางกระทรวงเคยได้รับมา โดยข้อตกลงนี้จะยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่า ZTE จะจ่ายค่าปรับจำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีสัญญามูลค่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 -3 วัน
อ้างอิงจากข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
Marco Rubio ส.ว.จากพรรครีพับลิกันทวีตให้ความเห็นโดยการติดแฮชแท็ก #VeryBadDeal “ผมเชื่อมั่น 100% เลยว่า #ZTE มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของชาติมากกว่าเหล็กจากอาร์เจนตินา หรือยุโรป”
มีการสืบสวนสอบสวนจากสหรัฐฯ หลังจากสื่อรอยเตอร์รายงานว่า ในปี 2555 บริษัทลงนามในสัญญาจัดส่งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์มูลค่าหลายล้านดอลลาร์ให้อิหร่านจากบริษัทเทคโนโลยีบางแห่งของสหรัฐฯที่เป็นที่รู้จักกันดี โดยจากหลักฐานพบว่า ZTE ซื้ออุปกรณ์จากสหรัฐฯ และประกอบเป็นเครื่องและส่งต่อไปอิหร่าน โดยบริษัทถูกศาลสหรัฐฯพิพากษาว่ามีความผิดจริงในรัฐเท็กซัสเมื่อปีที่แล้ว
ทั้งนี้ ZTE ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเมืองเซินเจิ้นของจีนมีบริษัทย่อยในเมืองริชาร์ดสัน รัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ
ความอยู่รอดของ ZTE เป็นหัวข้อสำคัญในการพูดคุยระดับสูงของการประชุมการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน โดยทรัมป์ทวีตเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ว่า เขาและประธานาธิบดีสีจิ้นผิงกำลังทำงานร่วมกันเพื่อช่วย ZTE ให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้งอย่างรวดเร็ว
หุ้นของ Oclaro ซัพพลายเออร์ของ ZTE เพิ่มขึ้น 1.3% ขณะที่ Acacia Communications Inc ลดลง 0.6% โดย Oclar มีการดำเนินธุรกิจคิดเป็นสัดส่วน 18% ของ ZTE เมื่อปีก่อน ขณะที่ 30% จากรายได้รวมของ Acacia มาจาก ZTE.